ไทยบันเทิง

🚧 โปรดทราบ เนื่องจากในตอนนี้ฐานข้อมูลของเรายังไม่สมบูรณ์ 😲😲 เนื่องจากระบบวิกิเป็นระบบที่ใหญ่และต้องมีฐานข้อมูลที่ครอบคลุม หากว่าท่านใดมีข้อมูลต้องการที่จะนำมาเผยแพร่ในฐานะมรดกทางภูมิปัญญาให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ ท่านสามารถล็อกอินผ่านบัญชี Facebook ได้โดยกดไปที่ Sign In with Facebook และร่วมพูดคุยกับเราได้ที่นี่ 🙋😉

READ MORE

ไทยบันเทิง
ความรุ่งโรจน์ ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ยุคบุคเบิก (2470 - 2489)
ความรุ่งโรจน์ ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ยุคบุคเบิก (2470 - 2489)

ถึงแม้ว่าการสร้างภาพยนตร์ไทยโดยคนไทยจะเกิดขึ้นโดย พร้อมกับการเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ในประเทศเมื่อ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ทรงบุกเบิกทดลองสร้าง ภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2443 อย่างไรก็ตาม กิจการสร้างภาพยนตร์ในช่วงแรกหาได้กระทำกันอย่างจริงจังตามระบบอุตสาหกรรมไม่ ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นและจัดฉายกันภายในกลุ่มเท่านั้น หรือหากจัดฉายแก่สาธารณะก็เป็นเพียงครั้งคราว ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้สร้างมากกว่าที่จะขึ้นกับความพอใจของผู้ชมตามระบบธุรกิจ เปิดศักราชอุตสาหกรรม ภาพยนตร์โดยคนไทย เพื่อคนไทย

ปี พ.ศ. 2470 ; กรุงเทพฯ ภาพยนตร์บริษัท ได้ก่อตั้งขึ้นโดย พี่น้องตระกูลวสุวัต เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ศรีกรุงและสยามราษฎร์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียง ในขณะนั้น นับตั้งแต่เมื่อครั้งที่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ บิดาแห่งภาพยนตร์ไทย สิ้นพระชนม์ลงเมื่อปี พ.ศ. 2462 พี่น้องวสุวัตได้ทราบว่าเครื่องถ่ายภาพยนตร์ของพระองค์ยังคงตกค้างอยู่ จึงได้ติดต่อขอซื้อและนำมาแก้ไขดัดแปลงจนกระทั่งใช้การได้ อย่างไรก็ตามในสมัยนั้นยังไม่มีฟิล์มภาพยนตร์เข้ามาขายในตลาดเมืองไทย จึงยังไม่สามารถนำกล้องมาทดลองถ่ายได้ จนเมื่อพระศรัทธาพงษ์ เจ้าของโรงภาพยนตร์ปีระกา ได้อนุเคราะห์ให้ฟิล์มมาใช้จำนวนหนึ่ง พี่น้องวสุวัตจึงได้ลงมือถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องแรกทันที

ผลงานชิ้นแรก ที่พี่น้องวสุวัตทดลองสร้างขึ้น มีชื่อว่า "น้ำท่วมเมืองซัวเถา" โดยนำรูปถ่ายซึ่งส่งมาจากเมืองซัวเถามาถ่ายเป็นภาพยนตร์ แล้วใช้กิ่งไม้จริงขยับเป็นพื้นหน้า จนดูเป็นภาพเคลื่อนไหว เมื่อนำออกฉายปรากฏว่าสร้างความตื่นเต้นให้แก่ผู้ชมจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนจากเมืองซัวเถาที่อพยพมาตั้งรกรากที่เมืองไทย หลังจากนั้นพี่น้องวสุวัตได้ลงมือถ่ายทำภาพยนตร์อีกหลายเรื่องทั้งหมด เป็นการบันทึกภาพจากเหตุการณ์จริงในลักษณะภาพยนตร์สารคดี ได้แก่ การชนช้างในงาน ยุทธกีฬาทหาร (พ.ศ. 2464) ไทรโยค (พ.ศ. 2464) ภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ตอนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกอล์ฟที่หัวหิน (พ.ศ. 2465) โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่องหลังสุดนี้ ต่อมาได้มีชาวต่างประเทศติดต่อขอซื้อไปฉายด้วย

ปี พ.ศ. 2466 ได้มีคณะถ่ายทำภาพยนตร์จากฮอลลีวูด นำโดยนายเฮนรี แมกเร เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในเมืองไทยเรื่อง "นางสาวสุวรรณ" แม้ไม่ปรากฏหลักฐานว่า พี่น้องวสุวัต ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับกองถ่ายคณะนี้โดยตรง แต่ด้วยความที่พี่น้องตระกูลนี้มีความฝักใฝ่ในวิทยาการสร้างภาพยนตร์เป็นทุนเดิม

ก็น่าเชื่อว่า พี่น้องวสุวัต คงไม่พลาดโอกาสสำคัญ ที่จะเข้าไปสัมผัสบรรยากาศเบื้องหลังกองถ่ายจากฮอลลีวูด หรืออย่างน้อย กองถ่ายภาพยนตร์จากฮอลลีวูดก็น่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้พี่น้องวสุวัตคิดสร้างภาพยนตร์บันเทิงของตนเองบ้าง ซึ่งในที่สุดความตั้งใจของพี่น้องสกุลวสุวัตก็เป็นจริง ด้วยการก่อตั้ง 'กรุงเทพฯภาพยนตร์บริษัท' ขึ้นในอีก 4 ปีต่อมา (พ.ศ. 2470)

โชคสองชั้น : ภาพยนตร์เรื่องแรกที่มีผู้ชมมากที่สุด

โชคสองชั้น9

โชคสองชั้น (2470)

แม้ว่า กรุงเทพฯ ภาพยนตร์บริษัท จะประกาศตัวต่อสาธารณะช้ากว่า "บริษัทถ่ายภาพยนตร์ไทย" ของ หลวงสุนทรอัศวราช ที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2469 ก็ตาม แต่กรุงเทพฯภาพยนตร์บริษัท กลับเป็นบริษัทที่มีผลงานออกมาก่อนด้วยการสร้างภาพยนตร์เงียบที่มีชื่อว่า "โชคสองชั้น" ทีมงานหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ ประกอบด้วย นายมานิต วสุวัต เป็นผู้อำนวยการสร้าง หลวงบุณยมานพพานิช เป็นผู้เขียนเรื่อง หลวงกลการเจนจิต เป็นผู้ถ่ายทำ นายกระเศียร วสุวัต เป็นผู้ตัดต่อ และ หลวงอนุรักษ์รัถการ เป็นผู้กำกับการแสดง นอกจากนี้ยังได้จ้างทีมงานบางส่วน และอุปกรณ์การถ่ายทำจากกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตภาพยนตร์ที่มีศักยภาพที่สุด ในขณะนั้นมาช่วยถ่ายทำด้วย

Trailer_โชคสองชั้น_(2470)

Trailer โชคสองชั้น (2470)


ภาพยนตร์เรื่อง โชคสองชั้น ออกฉายเป็นครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร เมื่อวันที่ 30 กรกฏาคม พ.ศ. 2470 ได้รับการตอบรับจากประชาชนจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นับว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่มีมหาชนไปดูกันมากที่สุด

ย้อนกลับมาที่บริษัทถ่ายภาพยนตร์ไทย เมื่อรู้ตัวว่ามีคู่แข่งเกิดขึ้น ก็รีบลงมือถ่ายทำภาพยนตร์ของตนทันที แต่ก็ไม่สามารถจะจ้างกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าวถ่ายทำให้ได้เสียแล้วเพราะขณะนั้นกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าวกำลังถ่ายทำเรื่อง โชคสองชั้น ของกรุงเทพฯภาพยนตร์บริษัทอยู่ ที่สุดคณะนี้ต้องไปว่าจ้าง ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต อดีตหัวหน้าช่างถ่ายภาพยนตร์ กรมรถไฟหลวง มาถ่ายทำให้ กว่าที่บริษัทถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องแรกของตนซึ่งตั้งชื่อว่า ไม่คิดเลย เสร็จก็เป็นเวลา 2 เดือนหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง โชคสองชั้น ฉายไปแล้ว

ไม่คิดเลย

ไม่คิดเลย (2470)

ภาพยนตร์เงียบเรื่อง ไม่คิดเลย ออกฉายเป็นครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2470 ถึงแม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะประสบความสำเร็จในด้านรายได้พอสมควร แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเหมือนเมื่อครั้งที่ โชคสองชั้น เข้าฉายเท่าใดนัก เพราะแม้แต่หนังสือพิมพ์ข่าว ภาพยนตร์ก็ไม่ได้ติดตามความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้มากนัก

อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องต่างก็ได้แผ้วถางทางให้แก่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เพราะหลังจากนั้นไม่นานก็มีผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งรายเล็กรายใหญ่เกิดขึ้นตามมามากมาย

จากการที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเติบโตขึ้นอย่างน่าพอใจนี่เอง ทำให้หลายคนเริ่มวาดฝันถึงความเจริญรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยตามแบบฮอลลี่วูด มีบทความหลายชิ้นที่เสนอความคิดเห็นสอดรับกับความคิดดังกล่าว บ้างก็ถึงขนาดสนับสนุนให้มีการสร้างศูนย์กลางการผลิตภาพยนตร์ในเมืองไทยเลยทีเดียว

ความฝันที่จะมี 'ฮอลลี่วูด' ในเมืองสยามเริ่มใกล้ความจริงในปี พ.ศ. 2474 ในปีนั้น ขณะที่บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง กำลังถ่ายทำภาพยนตร์เสียงเรื่องแรกของบริษัท ที่ทุ่งบางกะปิ (บริเวณอโศกในปัจจุบัน) หนึ่งในทีมงานก็เกิดความคิดที่จะสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงขึ้นที่นี่ จนกระทั้งเวลาผ่านไป 3 ปีความคิดของเขาก็เป็นจริง เมื่อโรงถ่ายขนาดใหญ่ชื่อ 'โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง' ถูกสร้างขึ้น ในเวลาต่อมาโรงถ่ายแห่งนี้ ไม่เพียงจะได้รับสมญาว่าเป็นฮอลลีวูดเมืองสยามเท่านั้น หากยังได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการผลิตภาพยนตร์เสียงที่มีคุณภาพมากที่สุด ใหญ่และได้มาตรฐานที่สุดของสยาม ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

กำเนิดภาพยนตร์

หลังจากที่ กรุงเทพฯ ภาพยนตร์บริษัท สร้างภาพยนตร์เรื่อง ใครเปนบ้า เสร็จในปี พ.ศ. 2471 จู่ๆ ก็ยุติการสร้างภาพยนตร์ไปเฉยๆ สร้างความแปลกใจแก่วงการภาพยนตร์ช่วงนั้นเป็นอย่างมาก ว่าเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเป็นรายแรก...จะมีสักกี่คนที่ล่วงรู้ว่าการเงียบหายไปของ กรุงเทพฯ ภาพยนตร์บริษัท คือการแผ้วถางทางไปสู่การบุกเบิกอุตสาหกรรมภาพยนตร์แนวใหม่ของเมืองไทย อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย

ย้อนกลับมาในปี พ.ศ. 2470 ขณะที่คนไทยกำลังตื่นเต้นอยู่กับภาพยนตร์ฝีมือคนไทยที่กำลังทยอยออกฉายอยู่นั้น ข้ามทวีปไปยังประเทศอเมริกา ประชาชนที่นั่นก็กำลังตื่นเต้นกับ ภาพยนตร์เรื่อง The Jazz Singer ภาพยนตร์เสียงในฟิล์มเรื่องแรก ที่คิดค้นและพัฒนาโดยนายลี เดอ ฟอร์เรสต์ (Lee De Forrest) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เพียงสร้างรายได้มหาศาลให้แก่บริษัทฟอกซ์ เจ้าของเท่านั้น หากยังเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เสียง อีกด้วย

เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2471 คนไทยก็มีโอกาสรู้จักกับภาพยนตร์จากสิงคโปร์ที่ชื่อบริษัท 'โฟโนฟิล์ม (สิงคโปร์) จำกัด' เดินทางเข้ามา ในสยามเพื่อติดต่อขอเช่าโรงภาพยนตร์ของบริษัทภาพยนตร์พัฒนากรสำหรับจัดฉายภาพยนตร์เสียง ประชาชนที่ได้ทราบข่าวต่างเดินทางมายังโรงภาพยนตร์พัฒนากรเป็นจำนวนมาก จนทำให้คณะฉายหนังจากสิงคโปร์ตัดสินใจเช่าโรงภาพยนตร์ของบริษัทภาพยนตร์พัฒนากรเพิ่มอีกหนึ่งโรง แล้วฉายติดต่อกันไปเป็นเวลาเกือบ 2 อาทิตย์ ก่อนที่จะกลับประเทศไป ทิ้งให้ผู้ชมต้องกลับมาชมภาพยนตร์เงียบกันอีกครั้ง

สำหรับผู้ชมทั่วไป การกลับไปของคณะฉายภาพยนตร์จากสิงคโปร์ อาจทำให้พวกเขาค่อยๆ ลืมเลือนภาพยนตร์เสียงไปในที่สุด แต่สำหรับ พี่น้องวสุวัต แห่งกรุงเทพฯ ภาพยนตร์บริษัทนั้น การได้ชมและฟังภาพยนตร์เสียงถือเป็นการเปิดหูเปิดตาต่อประดิษฐกรรมใหม่ในโลกภาพยนตร์ ทำให้ทั้งสองเบนไปทุ่มเทความสนใจทั้งหมดแก่การศึกษาภาพยนตร์เสียง อย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม พี่น้องวสุวัต มีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์เสียงจากในตำราเท่านั้น แต่ไม่มีโอกาสที่จะทดลองปฏิบัติจริงๆ จนกระทั้งเดือนมีนาคม พ.ศ. 2472 เมื่อได้มีคณะถ่ายภาพยนตร์เสียงประเภทข่าวจากประเทศอเมริกา ชื่อ บริษัทฟอกซ์มูวีโทนนิวส์ (Fox Movietone News) เดินทางเข้ามาถ่ายทำ ภาพยนตร์ข่าวเบ็ดเตล็ดในสยาม โดยในการนี้ หลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต) ซึ่งเป็นหัวหน้าช่างถ่ายภาพยนตร์ของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว ได้เข้าไปอำนวยความสะดวกให้แก่คณะถ่ายทำกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด จึงได้ถือโอกาสดึงพี่น้องคนอื่นๆ เข้าไปเรียนรู้การถ่ายทำภาพยนตร์เสียงด้วย

ภาพยนตร์เสียงเรื่องแรกของคนไทย

หลังจากร่วมงานกันเป็นเวลาพอสมควรทำให้ พี่น้องวสุวัต กับคณะถ่ายทำของบริษัทฟอกซ์มีความสนิทชิดเชื้อกันมาก ดังนั้นก่อนจะเดินทางกลับ คณะถ่ายทำของบริษัทฟอกซ์จึงได้ ให้พี่น้องวสุวัตยืมอุปกรณ์ถ่ายทำภาพยนตร์เสียงของตนไปทดลองถ่ายดู พี่น้องวสุวัตได้นำไปทดลองถ่ายภาพยนตร์ขนาดสั้น 2 เรื่อง ได้แก่ ภาพยนตร์บันทึกการแสดงจำอวดของ คณะนายทิ้ง มาฬมงคล และนายอบ บุญติด และการแสดงเดี่ยวซอสามสาย และจะเข้โดยพระยาภูมี เสวิน และนางสนิทบรรเลงการ อย่างไรก็ตามเมื่อถ่ายทำเสร็จ พี่น้องวสุวัตก็ไม่สามารถที่จะทดลองฉายดูผลในเมืองไทยได้ เนื่องจากขณะนั้นเมืองไทยยังไม่มีเครื่องฉายภาพยนตร์เสียง จึงต้องนำไปทดลองฉายที่สิงคโปร์แทน

เมื่อกลับมาเมืองไทย พวกเขาจึงลงมือดัดแปลงเครื่องฉายภาพยนตร์เงียบให้เป็นเครื่องฉายภาพยนตร์เสียง และดัดแปลงสร้างกล้องถ่ายภาพยนตร์เงียบให้กลายเป็นกล้องถ่ายภาพยนตร์เสียง โดยใช้อุปกรณ์บางอย่างที่คณะถ่ายทำของบริษัทฟอกซ์ให้ได้ไว้ก่อนกลับประเทศ

ในที่สุดพี่น้องวสุวัต ได้ประเดิมใช้เครื่องฉายใหม่นี้ด้วยการฉายภาพยนตร์เสียง 2 เรื่องที่เคยถ่ายไว้ในปีที่แล้ว ถวายให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทอดพระเนตร ณ พระตำหนักเปี่ยมสุขหัวหิน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2473 หลังจากนั้นอีก 3 วัน พี่น้องวสุวัตจึงได้ทำเครื่องฉายและภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ชมกันที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร กรุงเทพฯ สร้างความตื่นเต้นแก่ผู้ชมจำนวนมากทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ไม่แพ้เมื่อคราวที่คณะฉายภาพยนตร์เสียงจากสิงคโปร์นำภาพยนตร์เสียงมาฉายให้ดูกัน

หลังจากนั้นพี่น้องวสุวัต ก็ได้ดัดแปลงเครื่องฉายภาพยนตร์เงียบเป็นเครื่องฉายภาพยนตร์เสียงให้แก่โรงภาพยนตร์ทั่วไปในกรุงเทพฯ จนทำให้มีรายได้พอจะนำมาขยายกิจการสร้างภาพยนตร์ของตนอย่างจริงจังต่อไป อย่างไรก็ตาม พี่น้องวสุวัตยังคงมีพันธะที่จะต้องสานต่อ นั่นก็คือการเดินหน้าประดิษฐ์กล้องถ่ายภาพยนตร์เสียงให้สำเร็จ ซึ่งกว่าจะบรรลุผลได้ก็เป็นเวลาอีกหนึ่งปีต่อมา

ภาพยนตร์เสียงเรื่องแรกที่พี่น้องวสุวัตประเดิมถ่ายทำได้แก่ภาพยนตร์ข่าว สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จนิวัตพระนคร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2474 ต่อมาภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ออกฉายสู่สาธารณะที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร ในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2474 ได้รับความชื่นชมจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ผลพวงจากความสำเร็จครั้งนี้ทำให้พี่น้องวสุวัตซึ่งขณะนั้นเรียกชื่อกิจการสร้างภาพยนตร์ของพวกตนเป็นทางการว่า 'บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง' ได้ตัดสินใจหวนกลับมาสู่วงการภาพยนตร์อีกครั้ง หลังจากที่ห่างหายไปกว่า 4 ปี

บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง : ตำนานบทสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยยุคภาพยนตร์เสียง

ในช่วงเริ่มต้นดำเนินงาน บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงได้ตัดสินใจเลือก ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) นักปราชญ์ผู้มีความจัดเจนด้านการประพันธ์ มาเป็นผู้เขียนเรื่องและกำกับภาพยนตร์เสียงในฟิล์มเรื่องแรกของบริษัท เนื่องจากได้ประจักษ์ถึงความสามารถในเชิงการกำกับการแสดงจากภาพยนตร์ เรื่อง รบระหว่างรัก ที่ออกฉายเมื่อต้นปี พ.ศ. 2474 และประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

หลงทาง6

หลงทาง (2475)

เนื่องจากขุนวิจิตรมาตราเป็นผู้รอบรู้เกี่ยวกับความเป็นไปของภาพยนตร์โลก โดยเฉพาะภาพยนตร์ฮอลลีวูด จึงทราบว่าช่วงเวลานั้นภาพยนตร์เพลงกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากดังนั้นเมื่อเริ่มลงมือเขียนบท ท่านจึงได้ผสมเรื่องราวของหนุ่มชาวไร่ผู้ทิ้งลูกเมียมาหลงแสงสีเมืองกรุงเข้ากับบทเพลงไพเราะถึง 6 เพลงจนในที่สุดก็ได้เป็นบทภาพยนตร์เรื่อง "หลงทาง" ออกมา

เมื่อบทอันเป็นหัวใจของการสร้างภาพยนตร์เสียงศรีกรุงซึ่งประกอบด้วย หลวงกลการเจนจิต ผู้ถ่ายภาพ นายกระเศียรวสุวัต ผู้บันทึกเสียง นายมานิต วสุวัต ผู้อำนวยการสร้าง และผู้กำกับการแสดงคือ ขุนวิจิตรมาตรา ก็เริ่มลงมือถ่ายทำ โดยดัดแปลงบริเวณลานบ้านสะพานขาวของพี่น้องวสุวัตเป็นโรงถ่ายขนาดใหญ่สำหรับเก็บเสียง จากนั้นจึงตกแต่งเป็นห้องหับสำหรับถ่ายฉากภายใน แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นอีกจนได้ เมื่อทีมงานไม่สามารถหาฉากภาพยนตร์ภายนอกที่เหมาะสมจะเป็นทุ่งนาบ้านของพระเอกได้ ทั้งหมดจึงออกเดินทางค้นหา หลังจากใช้เวลาไม่นานคณะผู้สร้างก็ค้นพบสถานที่ถูกใจที่ตำบลบางกะปิ เป็นทุ่งนาผืนกว้างที่เหมาะแก่การถ่ายภาพยนตร์ คณะผู้สร้างจึงปักหลักถ่ายฉากภายนอกจนกระทั่งปิดกล้อง ทุ่งบางกะปิแห่งนี้เองที่คณะถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงได้กลับมาสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงในเวลาต่อมา

การถ่ายทำภาพยนตร์เสียงเรื่อง หลงทาง ได้เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2474 และไปสิ้นสุดเอาในช่วงปลายเดือนมีนาคม เหตุที่คณะถ่ายทำของบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงต้องเร่งถ่ายทำให้เสร็จโดยเร็วก็เพื่อจะให้ทันเข้าฉายในช่วงวันปีใหม่ เดือนเมษายน พ.ศ. 2475 ซึ่งพิเศษกว่าทุกปีเพราะเป็นปีที่รัฐบาลจัดงานเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี ประชาชนจากทั่วทุกสารทิศจะเดินทางเข้ามาในเมืองหลวงมากกว่าปรกติ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเมื่อภาพยนตร์เสียงเรื่อง หลงทาง ออกฉายจะประสบความสำเร็จเพียงใด ทว่าหลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงก็ไม่ได้สร้างภาพยนตร์บันเทิงต่ออีกเลยเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี

ช่วงต้นปี พ.ศ. 2477 การดำเนินการก่อสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงที่ทุ่งบางกะปิก็เริ่มต้นขึ้น โดยบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงได้ว่าจ้างให้บริษัทคริสเตียนแอนด์เนียลเสนซึ่งเป็นบริษัทที่ชำนาญการก่อสร้างในสมัยนั้นเป็นผู้รับเหมา อาศัยแบบที่เขียนขึ้นตามแบบโรงถ่ายฮอลลีวูดทุกประการ

สูตรสำเร็จของบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง

2478พญาน้อยชมตลาด 1

ในระหว่างที่กำลังสร้างโรงถ่ายอยู่นี้บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงก็ยังคงสร้างภาพยนตร์ต่ออีกหลายเรื่อง แต่ภาพยนตร์ที่น่าสนใจมากที่สุดในช่วงเวลานี้ ได้แก่ เลือดทหารไทย (พ.ศ. 2478) ภาพยนตร์เรื่องนี้ทางบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงได้รับการว่าจ้างจากกระทรวงกลาโหมให้ถ่ายทำภาพยนตร์เผยแพร่กิจการทหารทั้งสามเหล่าทัพ โดยนำเสนอเป็นภาพยนตร์บันเทิงมีพระเอกนางเอก ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เวลาถ่ายทำพอสมควรเนื่องจากต้องทำงานในขอบเขตที่ใหญ่โตกว่าการถ่ายภาพยนตร์ทั่วๆ ไป โดยเฉพาะฉากที่ต้องแสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพของกองทัพไทย ซึ่งต้องใช้ทหารจากสามเหล่าทัพเข้าร่วมแสดงเป็นจำนวนมาก

ช่วงเวลาที่ถือได้ว่าเป็นยุคทองของบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงอยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2478-2482 เพราะตลอดระยะเวลา 5 ปี บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงสร้างภาพยนตร์ไม่น้อยกว่า 10 เรื่อง แต่ละเรื่องทำกำไรให้แก่บริษัทไม่น้อย จนทำให้บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงเป็นบริษัทสร้างภาพยนตร์ที่มั่นคั่งที่สุดในสยาม

Trailer_เลือดชาวนา_(2479)

Trailer เลือดชาวนา (2479)


ปัจจัยที่สร้างความสำเร็จประการหนึ่งคงหนีไม่พ้นบุคลากร บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมบุคลากรที่มีความสามารถในแทบทุกแขนงการผลิตภาพยนตร์ เช่นในด้านการถ่ายภาพก็มี หลวงกลการเจนจิต ซึ่งเป็นช่างถ่ายภาพยนตร์ของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว ในด้านการบันทึกเสียงก็มีนายกระเศียร วสุวัต ช่างผู้ชำนาญการในเรื่องเครื่องยนต์กลไกเป็นผู้รับผิดชอบ ในด้านการประพันธ์บทและกำกับ ก็ได้ ขุนวิจิตรมาตรา นักปราชญ์แห่งสยามเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสร้างสรรค์ และในด้านเพลงก็ได้ร้อยโทมานิต เสนะวีณิน และนายนารถ ถาวรบุตร์ นักประพันธ์เพลงผู้มีชื่อเสียงมาเป็นผู้สร้างสรรค์บทเพลง นอกจากนี้ ปัจจัยที่สร้างความสำเร็จให้แก่บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงอีกประการหนึ่งก็คือ การวางแผนทางการตลาด ก่อนที่จะลงมือสร้างภาพยนตร์ทุกครั้ง บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงจะสำรวจความต้องการของตลาดอย่างดี จากนั้นนำมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดแนวทางภาพยนตร์ที่จะสร้าง นอกจากนี้ กลยุทธ์สำคัญอีกประการหนึ่งที่บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงนำมาใช้จนประสบความสำเร็จก็คือ การสร้างดาราคู่ขวัญ

หลอกเมีย (2480) 4

มานี สุมนนัฏ กับ จำรัส สุวคนธ์ ในภาพยนตร์เรื่อง หลอกเมีย (2480)

ดาราคู่ขวัญคู่แรกและคู่เดียวที่บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงสร้างขึ้น ได้แก่ มานี สุมนัฎ และ จำรัส สุวคนธ์ ซึ่งเกิดจากบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงด้วยกันทั้งคู่ ทั้งคู่มาแสดงร่วมกันเป็นครั้งแรกในภาพยนตร์เรื่อง กลัวเมีย (พ.ศ. 2479) ซึ่งเมื่อออกฉายก็ได้รับความนิยมอย่างมาก ทางบริษัทจึงนำทั้งคู่มาแสดงร่วมกันต่ออีก 2 เรื่อง ได้แก่ เพลงหวานใจ (พ.ศ. 2480) และ หลอกเมีย (พ.ศ. 2480) ซึ่งทุกเรื่องประสบความสำเร็จในด้านรายได้อย่างงดงาม โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่อง เพลงหวานใจ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ลงทุนมากที่สุดของบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงนั้นได้สร้างชื่อให้ดาราทั้งคู่กลายเป็นตำนานหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เมืองไทยทีเดียว

นอกจากดาราคู่ขวัญ 'เพลงประกอบภาพยนตร์' ก็เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดอีกประการหนึ่งที่สร้างความสำเร็จไม่แพ้กัน เพลงได้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่เมื่อครั้งที่สร้างภาพยนตร์เรื่อง หลงทาง ภาพยนตร์เสียงเรื่องแรก โดยในครั้งนั้นขุนวิจิตรมาตราได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์เพลงฮอลลีวูด ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม จึงได้แต่งเพลงประกอบในภาพยนตร์ถึง 6 เพลงเมื่อออกฉายปรากฏว่าผู้ชมไม่ได้ชื่นชอบเพียงเนื้อหาภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังชอบเพลงประกอบด้วย หลังจากนั้นเป็นต้นมา บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงก็บรรจุเพลงลงในภาพยนตร์บันเทิงเรื่อง จนกลายเป็นสูตรสำเร็จไปในที่สุด และหลายเพลงก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นจะลาโรงไปแล้วก็ตาม

บริษัทไทยฟิล์ม : คู่แข่งสำคัญของศรีกรุง

แม้ว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะดูเหมือนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบรัษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงแต่เพียงบริษัทเดียว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงจะปราศจากคู่แข่ง ในขณะนั้นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดในวงการภาพยนตร์เสียงด้วยกันก็คือ 'บริษัทไทยฟิล์ม'

บริษัทไทยฟิล์มก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2481 จากการรวมกลุ่มของอดีตนักเรียนนอกที่มีความรักในภาพยนตร์ ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล นายพจน์ สารสิน และนายประสาท สุขุม โดยเฉพาะนายประสาท สุขุม นั้นได้เคยไปเรียนวิชาถ่ายภาพยนตร์จากอเมริกา และมีฝีมือเป็นที่ยอมรับ ถึงกับได้รับเกียรติให้เป็นสมาชิกสมาคมช่างถ่ายภาพยนตร์แห่งอเมริกา (American Society of Cinematographer : ASC) บริษัทไทยฟิล์มได้ประเดิมสร้างภาพยนตร์เรื่อง ถ่านไฟเก่า เป็นเรื่องแรก หลังจากนั้นได้สร้างภาพยนตร์ตามมาอีก 2 เรื่องเท่านั้น ได้แก่ แม่สื่อสาว (พ.ศ. 2481) และ วันเพ็ญ (พ.ศ. 2481) ก่อนที่จะยุติบทบาทลงเนื่องจากประสบภาวะขาดทุนและได้ขายกิจการและโรงถ่ายให้แก่กองทัพอากาศไปใน พ.ศ. 2483 ภาพยนตร์ของบริษัทไทยฟิล์มคล้ายกับของบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง คือมักมีเพลงเป็นตัวชูรส บางเพลงจากภาพยนตร์ของไทยฟิล์ม เช่น 'บัวขาว' และ 'ลมหวล' ยังคงเป็นที่นิยมมาจนปัจจุบัน

นอกจากต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างบริษัทไทยฟิล์มแล้ว บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงยังต้องแข่งขันกับกลุ่มผู้สร้างหนังพากย์ ซึ่งเกิดขึ้นจำนวนมากหลังจากยุคภาพยนตร์เงียบ เมื่อภาพยนตร์เสียงเริ่มเข้ามาสู่ตลาดภาพยนตร์เมืองไทย เงื่อนไขในเรื่องเงินทุนทำให้พวกเขาไม่สามารถทำภาพยนตร์เสียงได้ จึงหาทางออกด้วยการยังคงรูปแบบการถ่ายทำแบบภาพยนตร์เงียบ แต่อาศัยการพากย์สดซึ่งพัฒนามาจากการบรรยายข้างจอที่นิยมกันมากในช่วงที่ภาพยนตร์เสียงเข้ามาแย่งตลาดหนังเงียบในเมืองไทยใหม่ๆ การพากย์นี้เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ชมมาก โดยเฉพาะถ้าได้นักพากย์ฝีปากเอกที่มีลีลาการพากย์สนุกสนานเร้าใจ หนังพากย์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้ชมจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ชมระดับล่างเลือกชมไม่แพ้ภาพยนตร์เสียง และความนิยมนี้ต่อมาได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นวัฒนธรรมหนังพากย์ 16 มม. ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 2490 แล้วดำเนินการต่อเนื่องไปกว่า 2 ทศวรรษ

หนังพากย์ : ตัวแปรทางรสนิยมของผู้ชมภาพยนตร์ไทย

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2471 ขณะที่ผู้ชมชาวไทยกำลังตื่นเต้นกับภาพยนตร์เสียงที่คณะฉายภาพยนตร์จากสิงค์โปร์เข้ามาฉายนั้น ข้างฝ่ายคณะบริหารของบริษัทภาพยนตร์พัฒนากรซึ่งครองตลาดหนังเงียบอยู่ ก็เริ่มตระหนักถึงทิศทางที่เปลี่ยนไปของภาพยนตร์เงียบ โดยเฉพาะกับคำถามที่ว่า จะทำอย่างไรกับหนังเงียบที่ยังเหลือค้างสต็อกอยู่เป็นจำนวนมาก ครั้งหนึ่งนายต่วน ยาวะประภาษ เจ้าหน้าที่ของบริษัท ได้เสนอให้มีคนมายืนแปลคำบรรยายขณะฉายภาพยนตร์ แต่ได้ถูกปฏิเสธไป เพราะเห็นว่ายังไม่จำเป็น มาคราวนี้คณะผู้บริหารจึงหยิบยกข้อเสนอนั้นมาพิจารณาอีกครั้ง และได้ให้เริ่มทดลองใช้วิธีการดังกล่าวกับภาพยนตร์เรื่อง ค่าแห่งความรัก (His Lady) เป็นเรื่องแรก

แม้ว่าผลการทดลองจะออกมาในลักษณะก้ำกึ่ง คือมีผู้ที่ชอบมากๆ กับผู้ที่ไม่ชอบ แต่เมื่อเห็นว่าโดยภาพรวมแล้วค่อนข้างจะประสบความสำเร็จ บริษัทจึงยอมให้นายต่วนจัดกิจกรรมแบบนี้ต่อไปอีกเป็นครั้งคราว แต่แทนที่กิจกรรมบรรยายภาพยนตร์เงียบจะค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงไปตามภาพยนตร์เงียบที่กำลังจะถูกแทนที่โดยภาพยนตร์เสียง การณ์กลับตรงกันข้าม การบรรยายยิ่งจำเป็นมากขึ้น เนื่องจากภาพยนตร์เสียงที่นำเข้ามาฉายได้สร้างปัญหาให้แก่ผู้ชมเป็นอย่างมากด้วยยังไม่มีการจัดทำคำบรรยายเป็นภาษาไทยควบคู่ไปขณะฉาย และต่อมาการบรรยายขณะฉายภาพยนตร์ก็ได้พัฒนามาเป็นการพากย์บทพูดเจรจาแทนเจ้าของภาษาเดิม ซึ่งปรากฏว่าได้รับความนิยมมากกว่าการบรรยายหน้าจอเสียอีก และหนึ่งในบรรดานักพากย์ซึ่งเป็นที่ถูกใจของผู้ชมชาวไทยมากที่สุดคงไม่มีใครเกิน ทิดเขียว ไปได้

ทิดเขียว

ทิดเขียว (สิน สีบุญเรือง)

เมื่อเข้าสู่ยุคภาพยนตร์เสียง นายสินซึ่งตอนนั้นเป็นที่รู้จักของผู้ชมในชื่อ ทิดเขียว แล้วก็ได้ผันตัวเองไปเป็นนักพากย์หนังพูดด้วย โดยภาพยนตร์เรื่องแรกที่นายสินทดลองพากย์เป็นภาพยนตร์อินเดียเรื่อง อาบูหะซัน ในภาพยนตร์เรื่องนี้ทิดเขียวเหมาพากย์ทั้งเสียงผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก คนแก่ รวมทั้งร้องเพลงในบางฉากด้วย ไม่ต้องสงสัยเลยว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมเพียงใด

ด้วยความคึกคักของกิจการภาพยนตร์ต่างประเทศพากย์ไทยนี่เอง ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยบางรายซึ่งไม่มีทุนรอนมากนักเริ่มมองเห็นทางที่จะสร้างภาพยนตร์ให้ประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องลงทุนมากมาย วิธีดังกล่าวคือ ลงมือถ่ายทำโดยไม่บันทึกเสียงเช่นเดียวกับภาพยนตร์เงียบ หลังจากนั้นจึงเชิญนักพากย์ฝีมือดีมาบรรเลงเพลงพากย์ในภายหลัง ผู้ที่เริ่มบุกเบิกวีธีดังกล่าวคือบริษัทสร้างภาพยนตร์ 2 ราย ได้แก่ บริษัทบูรพาภาพยนตร์ และบริษัทหัสดินทร์ภาพยนตร์ ซึ่งได้ทดลองสร้างหนังเรื่อง "อำนาจความรัก" และ "สาวเครือฟ้า" ตามลำดับ

ภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่อง ได้รับการตอบรับจากผู้ชมอย่างดียิ่ง จึงทำให้เกิดผู้สร้างรายเล็กรายใหญ่ตามมาหลายราย เช่น บริษัท น.น ภาพยนตร์ บริษัทบูรพศิลป์ภาพยนตร์ บริษัทละโว้ภาพยนตร์ หรือแม้แต่ 'ทิดเขียว' ซึ่งต่อมาได้สร้างหนังพากย์ขึ้นเอง 2 เรื่อง ได้แก่ จันทร์เจ้าขา (พ.ศ. 2479) และ ชายสองโบสถ์ (พ.ศ. 2483)

เหตุที่หนังพากย์เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมนั้น นอกจากลีลาการพากย์ภาพยนตร์ที่ดึงดูดผู้ชมตั้งแต่หนังยังไม่เริ่มฉายแล้ว เนื้อเรื่องของนักพากย์เองก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ผู้ชมชื่นชอบไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเรื่องราวที่ดัดแปลงจากนิทานพื้นบ้าน เรื่องราวที่เกี่ยวกับผีสางเทวดา หรือแม้แต่เรื่องราวผัวๆ เมียๆ ทั้งนี้เพราะกลุ่มผู้ชมหนังพากย์ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านร้านตลาดที่มีความผูกพันอย่างใก้ลชิดกับมหรสพพื้นบ้านอย่างลิเก ละครนอก ซึ่งเนื้อหาของมหรสพเหล่านี้มักหนีไม่พ้นเรื่องราวดังกล่าว ดังนั้นเมื่อเรื่องราวจากมหรสพพื้นบ้านถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ซึ่งเป็นสื่อที่ทันสมัยที่สุดแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ชมกลุ่มนี้จะตามไปดูด้วยความตื่นเต้น แม้ว่าเรื่องบางเรื่องจะเคยดูมาหลายรอบแล้วก็ตาม ด้วยเหตุนี้หนังพากย์จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการแบ่งกลุ่มผู้ชมภาพยนตร์ไทยอย่างชัดเจน จากเดิมที่กลุ่มผู้ชมภาพยนตร์เคยเป็นกลุ่มเดียวกันตลอดมานับตั้งแต่มีภาพยนตร์เข้ามาฉายในสยาม ก็เปลี่ยนมาเป็นกลุ่มผู้ชมภาพยนตร์เสียงกลุ่มหนึ่งและกลุ่มผู้ชมหนังพากย์อีกกลุ่มหนึ่ง โดยกลุ่มผู้ชมภาพยนตร์เสียงจะเป็นผู้มีการศึกษา และนิยมในวัฒนธรรมต่างประเทศในขณะที่ผู้ชมหนังพากย์เป็นกลุ่มชาวบ้านที่มีความผูกพันในวัฒนธรรมท้องถิ่น ความแตกต่างของกลุ่มผู้ชมทั้ง 2 กลุ่มนี้ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น และภาพยนตร์ซึ่งเป็นหนึ่งในความบันเทิงเริ่มขาดแคลน ผู้ชมไม่มีทางเลือกเหมือนสมัยก่อนสงคราม จึงต้องกลับมารวมตัวเป็นกลุ่มเดียวกันอีกครั้ง

สงครามโลกครั้งที่ 2 : จุดสิ้นสุดของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยยุคบุกเบิกและจุดเริ่มต้นของยุคหนังสิบหก

ในช่วงปี พ.ศ. 2483 ความเจริญรุ่งเรืองของวงการภาพยนตร์ไทยโดยเฉพาะภาพยนตร์เสียงซึ่งดำเนินมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 2470 มีอันต้องสะดุดลง เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรป วิกฤตการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อวงการภาพยนตร์ไทยโดยตรง เพราะได้ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนฟิล์มถ่ายภาพยนตร์ขนาด 35 มม. อย่างฉับพลัน เนื่องจากประเทศผู้ผลิตฟิล์มส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปซึ่งกำลับประสบกับภาวะสงครามโดยตรง ส่งผลให้ภาพยนตร์เสียงซึ่งเคยเฟื่องฟูมากในช่วงต้นทศวรรษ 2480 ค่อยๆ ลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย ภาพยนตร์เสียงเพียงเรื่องเดียวที่สร้างในปี พ.ศ. 2483 ก็คือ พระเจ้าช้างเผือก ซึงสร้างโดยนายปรีดี พนมยงค์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสะท้อนความคิดทางการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับลัทธิฟาสซิสม์ที่กำลังเฟื่องฟูทั้งใน เยอรมนี ญี่ปุ่น และประเทศไทย

เมื่อรูปการณ์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเป็นเช่นนี้ จึงมีผู้สร้างภาพยนตร์บางรายพยายามหาทางออกเพื่อแก้ไขกับสถานการณ์ดังกล่าว และความสำเร็จของภาพยนตร์พากย์เรื่อง สามปอยหลวง ของบริษัทไตรภูมิภาพยนตร์ ที่ออกฉายในช่วงปลายปี พ.ศ. 2483 ก็คือตัวอย่างอันดีของความพยายามครั้งนี้ ภาพยนตร์ดังกล่าวทำรายได้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 34,000 บาท และสำหรับเหล่าผู้สร้างภาพยนตร์ ความน่าสนใจของ สามปอยหลวง อยู่ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำด้วยฟิล์มขนาด 16 มม. ซึ่งแต่เดิมมักใช้เฉพาะในหมู่ช่างถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่น หรือใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ข่าวมากกว่า

อย่างไรก็ตามไม่ทันที่ผู้สร้างเหล่านั้นจะลงมือสานต่อความสำเร็จตามภาพยนตร์เรื่อง สามปอยหลวง ก็มีเหตุให้ต้องหยุดพักโครงการไปก่อน เมื่อไฟแห่งสงครามได้ลุกลามมายังประเทศไทยในช่วงปลายปี พ.ศ. 2484

2485บ้านไร่นาเรา 1

บ้านไร่นาเรา (2485)

กิจการสร้างภาพยนตร์ในช่วงสงครามโลกโดยเฉพาะภาพยนตร์ 35 มม. นั้นค่อนข้างซบเซา เพราะมีการสร้างออกมาเพียง 4 เรื่องเท่านั้น และ 3 ใน 4 ก็ตกอยู่ภายใต้การดำเนินการของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ผลิตภาพยนตร์คือ กองถ่ายภาพยนตร์ทหารอากาศ เป็นผู้ผลิตภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อตามนโยบายที่กำหนด อันได้แก่ บ้านไร่นาเรา (พ.ศ. 2485) สงครามเขตหลัง (พ.ศ. 2486) และ บินกลางคืน (พ.ศ. 2486) ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายในยุคนั้นที่ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 มม.

ถึงแม้ว่าผลกกระทบของสงครามจะทำให้วงการหนังพากย์สะบักสะบอมไม่แพ้ภาพยนตร์เสียง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากิจการหนังพากย์จะล่มสลายตามภาพยนตร์เสียงไปด้วย การณ์กลับตรงข้าม เมื่อกิจการหนังพากย์สามารถยืนหยัดจนผ่านพ้นวิกฤตการณ์ไปได้ด้วยการหันมาใช้ฟิล์ม 16 มม. ซึ่งยังพอหาได้จากท้องตลาด ดังนั้นตลอดเวลาที่เกิดสงครามจึงมีหนังพากย์ 16 มม. ออกฉายโดยตลอดแม้จะไม่ต่อเนื่องก็ตาม

และจากการที่กลุ่มผู้สร้างหนังพากย์ 16 มม. ได้เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เอง เมื่อสงครามสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2488 กิจการหนังพากย์จึงค่อยๆ เติบโตขึ้นตามลำดับ จากเดิมที่มีเพียงไม่กี่รายในระยะแรก ได้ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับในช่วงต้นปี พ.ศ. 2490 โดยเฉพาะแรงหนุนจากความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง สุภาพบุรุษเสือไทย ซึ่งออกฉายในปี พ.ศ. 2492 ทำให้กิจการหนังพากย์เจริญเติบโตถึงขีดสุด และได้รับการตอบรับอย่างจากผู้ชมต่อมานานกว่า 2 ทศวรรษ จนทำให้หลายคนเรียกขานยุคแห่งความเจริญของหนังพากย์นี้ว่า ยุคหนังสิบหก

ในทางกลับกัน เมื่อย้อนกลับไปดูชะตากรรมของบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง หนึ่งในผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็จะพบว่าหลังจากบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงยุติบทบาทการสร้างภาพยนตร์ลงเมื่อเสร็จสิ้นการสร้างภาพยนตร์เรื่อง น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง ในปี พ.ศ. 2485 ก็ไม่ได้สร้างภาพยนตร์อีกเลยเป็นเวลาเกือบ 3 ทศวรรษ โดยได้เปลี่ยนกิจการโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงไปเป็นโรงภาพยนตร์แทน และเปลี่ยนจากบริษัทสร้างภาพยนตร์เป็นบริษัทผลิตแผ่นเสียงแทน การปิดตัวเองลงของบริษัทเสียงศรีกรุงในครั้งนั้นจึงนับเป็นจุดสิ้นสุดความรุ่งโรจน์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยยุคบุกเบิกไปโดยปริยาย

ดูเพิ่ม

  • ภาพยนตร์ไทยในยุค 16 มม. (2490 - 2515) (By: วิมลรัตน์ อรุณโรจน์สุริยะ)
  • หนังไทยกับการสะท้อนภาพสังคม (2516 - 2529) (By: อัญชลี ชัยวรพร)
  • หนังไทยในทศวรรษ 2530 - 2540 (By: สุทธากร สันติธวัช)
  • 2544 : ปีทองของ “หนังไทย” จากซบเซาสู่รุ่งเรือง (By: พันทิวา อ่วมเจิม)