- ชื่ออังกฤษ : The Moonhunter
- ประเภท : Biography / Drama / History
- ผู้กำกับ : บัณฑิต ฤทธิ์ถกล
- บทภาพยนตร์ : บัณฑิต ฤทธิ์ถกล, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
- กำกับภาพ : ธีระวัฒน์ รุจินธรรม
- ลำดับภาพ : สุนิตย์ อัศวินิกุล, ธานินทร์ เทียนแก้ว
- กำกับศิลป์ : ฑีฆายุ ธรรมนิตยกุล
- อำนวยการผลิต : ธนิตย์ จิตนุกูล
- อำนวยการสร้าง : เจริญ เอี่ยมพึ่งพร
- บริษัทผู้สร้าง : ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น, BEC-Tero Entertainment
- วันที่เข้าฉาย : 12 ตุลาคม 2544
- ระบบถ่ายทำ : ภาพยนตร์สี เสียงในฟิล์ม 35 มม.
เรื่องย่อ[]
ความคับแค้น เปลี่ยนเป็นพลัง ปลุกให้ลุกขึ้นสู้ แม้มีเพียงมือเปล่า
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเกิดจากพลังแรงกล้า ของการใฝ่หาเสรีภาพ โดยการนำของนิสิตนักศึกษา ได้สร้างภาพยิ่งใหญ่ตราไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติ ตั้งแต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงตลอดแนวถนนราชดำเนิน จากผู้คนเรือนล้านที่ออกจากบ้านและสถานศึกษา มาด้วยวิญญาณประชาธิปไตย ถึงร่างเปื้อนเลือด ซึ่งนอนทอดนิ่งอยู่ภายใต้ธงไตรรงค์ ท่ามกลางควันปืน และเสียงร่ำไห้ของเพื่อนพ้องผู้ใกล้ชิด
ขณะประชาธิปไตยเริ่มผลิบานอีกครั้งหนึ่ง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล (ภาณุ สุวรรณโณ) หนึ่งในผู้นำนักศึกษา ซึ่งยืนหยัดเป็นศูนย์กลางของฝูงชน ตลอดวันคืนอันยาวนานของเดือนตุลาฯ กลับพบว่าสภาพรอบตัวของเขา เริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่ากลัว อันตราย และเต็มไปด้วยความขัดแย้งคุกคาม หลังจากเพื่อนพ้องคนรู้จักโดนลอบสังหารต่อเนื่อง เขาตัดสินใจชวน จิระนันท์ พิตรปรีชา (พิมพ์พรรณ จันทะ) คนรักซึ่งเป็นดาวจุฬาฯ หันหลังให้กับกิจกรรมความงาม มาเข้าร่วมอยู่ในขบวนการเรียกร้องความเป็นธรรม พากันหนีเข้าป่าไปร่วมกับ พคท. ซึ่งก็เหมือนเพื่อนพ้องนักศึกษารุ่นพี่รุ่นน้องจำนวนมาก ทั้งเดินทางเข้าไปก่อนหน้า และติดตามไปภายหลัง
ทั้งสองใช้ชีวิตอย่างอยากลำเค็ญ ท่ามกลางป่าเขาบนภูร่องกล้า เฝ้าฝันว่าสักวันจะได้กลับเมือง พร้อมชัยชนะตามอุดมการณ์ที่ตั้งหวัง แต่แล้วเขากับจีระนันท์ก็เริ่มพบว่า สภาพแบบที่ทำให้เข้าต้องหนีออกจากเมือง ได้ย้อนกลับมาเป็นปัญหาให้ต้องเผชิญอีกครั้งในป่า
อ่านต่อ (Spoilers) |
---|
ความขัดแย้งทางความคิด การขาดความเป็นประชาธิปไตยและการยอมรับ ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ระบบญาติมิตรอุปถัมภ์ ตลอดจนการทำตัวเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ สิ่งเหล่านี้ดำรงอยู่ในป่า เหมือนๆ กับที่มันมีอยู่ในเมือง เขาพยายามเพื่อหาแนวทางเพื่อปรับเปลี่ยนแก้ไข แต่ไม่รับการสนองตอบ ในทางตรงข้ามเขากลับถูกจับตามองโดยฝ่ายนำจำนวนหนึ่ง และถูกวิพากษ์ว่าเป็นพวกค้านพรรค ชีวิตของเขาและเธอ ต้องเร่ร่อนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยการบงการของพรรค ซึ่งเฝ้าติดตามดูพฤติกรรม ในที่สุด ความอดกลั้นของเสกสรรค์ก็ระเบิดออก เขารวบรวมเพื่อนนักศึกษา เตรียมประกาศสงครามกับฝ่ายนำ ก่อนจะพบว่า มันคือสงครามที่ไม่มีวันได้รับชัยชนะ เสกสรรค์ จิระนันท์ และเพื่อนๆ ตัดสินใจทยอยกันออกจากป่า ขณะฝ่ายนำส่งมือสังหารตามล่า ทว่าโดยการคุ้มกันของเพื่อนๆ เขาสามารถพาคนรักข้ามสะพาน ไต่เหนือสายน้ำเชี่ยว หนีรอดออกมาได้อย่างจวนเจียน... |
นักแสดง[]
ภาณุ สุวรรณโณ | พิมพรรณ จันทะ |
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล | จิระนันท์ พิตรปรีชา |
นักแสดงสมทบ-รับเชิญ : | รับบทเป็น |
---|---|
ผศ.เกริกเกียรติ พันธุ์พิพัฒน์ | ลุงไฟ |
เกรียงไกร ฟูเกษม | ประสิทธิ์ |
ศุภลักษณ์ เชาวยุทธ์ | อัมพร |
ภคชนก์ โวอ่อนศรี | วิชัย |
สมคิด ประพันธ์ | ค้อน |
วัลลภ แสงจ้อย | ประชา |
เผด็จศึก สิงห์ทอง | ชม |
นพพร กำธรเจริญ | อมร |
สุนนท์ วชิรวราการ | เหวง |
ภาสชัย ฉิมจำเริญ | สหายยุทธ |
สุนธร มีศรี | สหายกา |
นิมิตร พิพิธกุล | สหายธง |
เสี้ยวจันทร์ แรมไพร | สหายกร |
บุญลาภ ศิริทรัพย์ | ลุงเติบ |
วัลลภ ไกรทอง | ลุงเกษม |
พล สรรปานะบุตร | เล่ายา |
นิวัต พิบูลศิริ | พ่อเสกสรรค์ |
จำปา แสนพรม | แม่เสกสรรค์ |
สืบศักดิ์ ฉลองธรรม | สหายแสวง |
นิธิพัธน์ นิพัทธนะวัฒน์ | สหายขจร |
จารุนันท์ พันธชาติ |
Image Gallery & วีดีโอ[]
เกร็ด[]
- ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์กึ่งชีวประวัติของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล บอกเล่าเรื่องราวชีวิตจริงตั้งแต่การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงการตัดสินใจเข้าป่าเพื่อลี้ภัยจากการกวาดล้างของรัฐบาลไทย เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กระทั่งถอนตัวออกจากป่าเมื่อ พ.ศ. 2524
- ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวที่สร้างจากเรื่องจริง ทำให้ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ผู้กำกับใช้เวลาเฟ้นหานักแสดงนำที่มีรูปร่าง หน้าตาเหมือน เสกสรรค์-จีระนันท์ มากที่สุด ทำให้ขั้นตอนในการคัดเลือกนักแสดงใช้เวลาในการคัดเลือกกว่า 6 เดือน ซึ่งในที่สุด ก็ได้สองนักแสดงหน้าใหม่ ที่ได้รับการลงความเห็นจากทุกฝ่ายว่า มีความเหมือน เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และ จีระนันท์ พิตรปรีชา มากที่สุด
- ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกของ ภาณุ สุวรรณโณ ผู้รับบทเป็น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
- ภาพยนตร์เรื่องนี้เขียนบทร่างโดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2542 เมื่อเริ่มเขียนบท เสกสรรค์ตั้งชื่อเรื่องนี้ว่า สหายไท ซึ่งเป็นชื่อจัดตั้งของตัวเขาเมื่ออยู่ในป่า
- ต่อมา บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ได้ตั้งชื่อเรื่องใหม่ว่า คนล่าจันทร์ ตามฉากหนึ่งในเรื่อง มีอยู่ตอนหนึ่งเป็นการเดินทางในป่า สหายไทตื่นนอนขึ้นมากลางดึก มองเห็นพระจันทร์ที่กำลังจะลับทิวไม้ เกิดเข้าใจผิดว่าเป็นทหารมาจู่โจม จึงเอาปืนไล่ยิงพระจันทร์ เปรียบเหมือนคนที่ไล่ล่าหาโลกแห่งความฝัน ที่ไม่มีวันได้พบ เพราะในความเป็นจริงไม่มีใครสามารถยิงพระจันทร์ให้ตกลงมาได้ สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างอุดมคติ หรือจุดมุ่งหมาย ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "The Moonhunter"
- ภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มต้นถ่ายทำเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ส่วนใหญ่ถ่ายทำที่ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยจำลองจากสถานที่จริงที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย, อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก, ถ้ำผาจิ จังหวัดพะเยา และประเทศลาว ซึ่งไม่สะดวกในการเดินทางไปถ่ายทำ นอกจากนี้ภาพยนตร์ยังถ่ายทำที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดเลย
- ภายหลังผู้กำกับได้เพิ่มเติมบทเกี่ยวกับเหตุการณ์จลาจลที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ฉากการปะทะกันระหว่างนักศึกษากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บริเวณคูน้ำหน้าพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ถ่ายทำที่มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ใช้เวลาถ่ายทำทั้งสิ้น 9 เดือน
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เทคนิกคอมพิวเตอร์กราฟิก ในฉากการชุมนุมของประชาชนนับแสนคน ที่ถนนราชดำเนิน และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สร้างสรรค์โดยบริษัท เร็นเดอร์ ฮาร์ท ของ ปรัชญา ปิ่นแก้ว
- เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย ฝ่ายโฆษณาได้เปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น 14 ตุลา สงครามประชาชน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์ เนื่องจากภาพยนตร์ออกฉายในเวลาใกล้เคียงกับพิธีเปิดอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา บริเวณสี่แยกคอกวัว ในโอกาสครบรอบ 28 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา และครบรอบ 25 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา
- ทีมงานสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ประกอบด้วย กฤษณพงษ์ นาคธน ทำหน้าที่ประสานงาน และร่วมอำนวยถ่ายทำ, กิตติพงษ์ ปัญญาทวีทรัพย์, ธเรศ มานนท์ และ วัลลภ แสงจ้อย เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ, กำกับภาพโดย ธีระวัฒน์ รุจินธรรม, ควบคุมการผลิตและงานเบื้องหลังถ่ายทำโดย สืบศักดิ์ ฉลองธรรม, ฑีฆายุ ธรรมนิตยกุล เป็นผู้กำกับศิลป์, เกรียงศักดิ์ สุขพันธ์ ทำหน้าที่ช่วยกำกับภาพ และถ่ายทำกล้อง 2, กำกับแสงโดย ดนัย นิ่มเจริญพงษ์, ลำดับภาพโดย สุนิตย์ อัศวินิกุล และ ธานินทร์ เทียนแก้ว, ควบคุมการบันทึกเสียงโดย ชาย คงศีลวัต, ควบคุมความต่อเนื่องโดย นิรมล เลขะวรรณ และ ปิติมา จุ่งรุ่งเรื่อง, ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย นิรชา วรรณาลัย และ เขมศิต นิลพันธ์, ควบคุมการแต่งกายโดย สิทธิพร รัตนางกูร และ สุนันท์ ศิริปรุ [5]
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทย ส่งเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ในการประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 74 แต่ไม่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้าย
รางวัล และอนุสรณ์[]
- รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี (ตุ๊กตาทอง) ประจำปี พ.ศ. 2544
- ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
- ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (บัณฑิต ฤทธิ์ถกล)
- บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (บัณฑิต ฤทธิ์ถกล, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล)
- กำกับภาพยอดเยี่ยม (ธีระวัฒน์ รุจินธรรม)
- บันทึกเสียงยอดเยี่ยม (ชาย คงสิระวัฒน์)
- รางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 10
- ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
- ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (บัณฑิต ฤทธิ์ถกล)
- ลำดับภาพยอดเยี่ยม (สุนิตย์ อัศวินิกุล)
- โครงการของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
- มรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 13 (พ.ศ. 2566)