ไทยบันเทิง

🚧 โปรดทราบ เนื่องจากในตอนนี้ฐานข้อมูลของเรายังไม่สมบูรณ์ 😲😲 เนื่องจากระบบวิกิเป็นระบบที่ใหญ่และต้องมีฐานข้อมูลที่ครอบคลุม หากว่าท่านใดมีข้อมูลต้องการที่จะนำมาเผยแพร่ในฐานะมรดกทางภูมิปัญญาให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ ท่านสามารถล็อกอินผ่านบัญชี Facebook ได้โดยกดไปที่ Sign In with Facebook และร่วมพูดคุยกับเราได้ที่นี่ 🙋😉

READ MORE

ไทยบันเทิง
Advertisement
✨🌟  เรือนแพ (2504)
เรือนแพ02

ใบปิดวาดโดย เปี๊ยก โปสเตอร์

  • ประเภท : Drama / Romance / Crime
  • ผู้กำกับ : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล, เนรมิต (อำนวย กลัสนิมิ)
  • พระนิพนธ์ : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล
  • บทภาพยนตร์ : เวตาล (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล)
  • ผู้ถ่ายภาพ : พูนสวัสดิ์ ธีมากร
  • ผู้ลำดับภาพ : อำนวย กลัสนิมิ, พร้อม รุ่งรังษี
  • บันทึกเสียง : น้อย บุนนาค
  • อำนวยการสร้าง : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล, จรี อมาตยกุล
  • บริษัทผู้สร้าง : อัศวินภาพยนตร์
  • วันที่เข้าฉาย : 23 ธันวาคม 2504 ฉายที่ศาลาเฉลิมไทย
  • ระบบถ่ายทำ : ภาพยนตร์สีอิสแมนต์ 35 มม.ซูเปอร์ซีเนสโคป พากย์เสียงในฟิล์ม

เรื่องย่อ

ระบบ 35 ม.ม.ซูเปอร์ซีเนสโคป เสียง-สีอิสต์แมน เพลงไพเราะ
นับแต่คนไทยสร้างภาพยนตร์มา ยังไม่เคยมีภาพยนตร์ไทยเรื่องใด..ของใคร..ที่ไหน..ยิ่งใหญ่..เอิกเกริกและมโหฬารเท่า..เรือนแพ

เจน (ส. อาสนจินดา) แก้ว (ไชยา สุริยัน) และ ริน (จินฟง) เป็นสามคนเพื่อนรักซึ่งหลงรัก เพ็ญ (มาเรีย จาง) ผู้หญิงคนเดียวกัน ทั้งหมดอาศัยอยู่ด้วยกันที่เรือนแพริมน้ำ ซึ่งเช่ามาจากเตี่ยของเพ็ญ ซึ่งมั่นหมายจะให้เพ็ญแต่งงานกับเจน ต่อมาทั้งสามต่างต้องแยกย้ายจากกัน โดยเจนซึ่งเรียนจบปริญญาด้วยคะแนนเกียรตินิยม ไปสมัครเป็นตำรวจ, ริน ไปเป็นนักร้อง ส่วนแก้ว ไปเป็นนักมวย

ในคืนฝนตกหนัก เพ็ญก็ตกเป็นเมียของแก้ว ทั้งคู่สัญญาจะเป็นผัวเมียกันตลอดไป แก้วตกลงใจจะล้มมวยในการชกที่ลพบุรี เพื่อหาเงินมาแต่งงานกับเพ็ญ แต่เมื่อถึงเวลาชกจริงเขากลับชกอย่างสุดฝีมือเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของตัวเอง ฝ่ายที่เสียพนันกลับจะมาเอาเรื่องกับแก้ว และถูกแก้วพลั้งมือฆ่าตาย แก้วกลายเป็นฆาตกรมีรางวัลนำจับ หลบหนีและไปเข้าร่วมกับแก๊งโจรจนได้เป็นหัวหน้าแก๊งแทนเสือหาญ

โดยทางการมีคำสั่งให้จับตายหัวหน้าแก๊งโจร นายตำรวจใหม่เจน ซึ่งได้รับคำสั่งให้ตามจับแก้ว ได้รับขอร้องจากเพ็ญให้ไว้ชีวิตแก้ว เจนจะตัดสินใจอย่างไร ระหว่างการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือทำเพื่อหญิงอันเป็นที่รัก

นักแสดง

นักแสดง รับบทเป็น
ไชยา สุริยัน แก้ว
ส. อาสนจินดา เจน
มาเรีย จาง เพ็ญ
จินฟง ริน
อดุลย์ ดุลยรัตน์
สมจิตต์ ทรัพย์สำรวย
เชาว์ แคล่วคล่อง เสือหาญ
สาหัส บุญ-หลง
ทัต เอกทัต คุณทัต
สถาพร มุกดาประกร
ชาลี อินทรวิจิตร
เมืองเริง ปัทมินทร์
อบ บุญติด อาจารย์กิตติ
จำรูญ หนวดจิ๋ม
แก้ว อัจฉริยะกุล ผู้กำกับการแสดงในห้องส่งทีวี
สง่า อารัมภีร นักเปียโน
เจือ จักษุรักษ์ กรรมการมวย บนเวทีราชดำเนิน

Image Gallery & วีดีโอ

เกร็ด

  • เรือนแพ เป็นภาพยนตร์สีอิสแมนต์ 35 มม.ซูเปอร์ซีเนสโคป ที่ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2504 กำกับการแสดงโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล (หรือพระนาม ภาณุพันธ์ และ เวตาล) ร่วมกับ ครูเนรมิต (อำนวย กลัสนิมิ) ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งรายได้และรางวัล
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำในระบบฟิล์ม 35 มม.ซูเปอร์ซีเนสโคป บันทึกเสียงในฟิล์ม เป็นภาพยนตร์ระบบซีเนมาสโคปเรื่องแรกของ อัศวินภาพยนตร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงมีคำโปรยว่า เตรียมชมซูเปอร์ซีเนสโคป บนจอ ทอดด์เอ.โอ. ซึ่งมีภาพกว้างใหญ่เทียบเท่า 70 มม. สีอีสต์แมน งามวิจิตรและสดใสในระบบเสียงสเตอริโอโฟนิค เสียงรอบทิศ
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการร่วมทุนสร้างระหว่างบริษัทอัศวินภาพยนตร์ กับ บริษัทชอว์บราเดอร์สแห่งฮ่องกง เป็นโครงการสร้างภาพยนตร์ที่นำดาราภาพยนตร์ฮ่องกง มาร่วมแสดงกับดาราภาพยนตร์ไทย เพื่อให้ภาพยนตร์ไทยมีช่องทางจำหน่ายออกต่างประเทศ
  • เดิมภาพยนตร์เรื่องนี้เคยทาบทามให้ ชรินทร์ นันทนาคร รับบทเป็น ริน แต่ชรินทร์ก็ไม่ยอมเล่น ภายหลังเปลี่ยนเป็นดาราจีน จินฟง แต่ชื่อตัวละครตัวนี้ยังคงเป็นชื่อ ริน
  • มาเรีย จาง เป็นชื่อใหม่ของดารานำหญิงที่ใช้เฉพาะภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อความไพเราะในการออกเสียงภาษาไทย ส่วนชื่อในไตเติ้ลภาพยนตร์ของ ชอว์บราเดอร์ส บริษัทต้นสังกัดของเธอคือ หยี-กวาง
  • ส.อาสนจินดา, สมจิตต์ ทรัพย์สำรวย, สาหัส บุญ-หลง, ทัต เอกทัต และ จำรูญ หนวดจิ๋ม พากย์เสียงตนเองลงฟิล์ม ยุพน ธรรมศรี พากย์เสียงเป็น ไชยา สุริยัน, จุรี โอศิริ พากย์เสียง มาเรีย จาง และ พูนสวัสดิ์ ธีมากร พากย์เสียง จินฟง
  • ใบปิดภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานการวาดของ เปี๊ยก โปสเตอร์ ส่งพิมพ์ระบบอ๊อฟเซ็ทที่ฮ่องกง เนื่องจากเป็นระบบใหม่ล่าสุดที่ยังไม่มีในเมืองไทยสมัยนั้น
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานเรื่องแรกในฐานะช่างกล้องของ พูนสวัสดิ์ ธีมากร หลังจากฝึกงานที่โรงถ่ายโตโฮ ประเทศญี่ปุ่น
  • เพลงประกอบในภาพยนตร์เรื่องนี้ บรรเลงโดย จุลดุริยางค์ กองทัพเรือ และวงดนตรีอัศวิน เพลงประกอบในเรื่องส่วนใหญ่เคยใช้ในภาพยนตร์ของบริษัทไทยฟิล์ม (บริษัทผู้สร้างเดิมของเสด็จพระองค์ชายใหญ่) ได้แก่ 
ลำดับ ชื่อเพลง ขับร้องโดย หมายเหตุ
1. เรือนแพ ชรินทร์ นันทนาคร ถือได้ว่าเป็นเพลงประจำตัวของชรินทร์ เลยทีเดียว
2. วันเพ็ญ ชรินทร์ นันทนาคร
สวลี ผกาพันธุ์
เพลงประกอบภาพยนตร์เดิมจากเรื่อง วันเพ็ญ (2481)
3. เงาไม้ สวลี ผกาพันธุ์ เพลงประกอบภาพยนตร์เดิมจากเรื่อง ลูกทุ่ง (2482)
4. สายชล ชรินทร์ นันทนาคร ในการฉายครั้งต่อๆมาเพลงนี้ถูกตัดออกทั้งหมดเพื่อความกระชับของเรื่อง
5. บัวขาว เพลงประกอบภาพยนตร์เดิมจากเรื่อง แม่สื่อสาว (2481)
  • เบื้องหลังการแต่งเนื้อเพลง เรือนแพ ประพันธ์คำร้องโดย ชาลี อินทรวิจิตร ทำนองโดย สง่า อารัมภีร ซึ่งครูชาลีเล่าว่าในท่อนสุดท้ายของเพลง ตอนที่ครูชาลีเขียนครั้งแรกคือ "ทุกข์หรือสุขก็คล้อยตามกัน ชีวิตกลางน้ำสุขสันต์ โอ้สวรรค์...ในเรือนแพ" ซึ่งกว่าเพลงจะแต่งจบก็ใกล้สว่าง แต่เสด็จพระองค์ชายใหญ่ไม่โปรดเนื้อประโยคที่ว่า "ทุกข์หรือสุขก็คล้อยตามกัน" จึงขอให้ครูชาลีแต่งใหม่ ด้วยความหิวความง่วงบวกกับความน้อยใจ ทำให้ครูชาลีหลั่งไหลออกมาเป็นประโยคที่ว่า "หิวหรืออิ่มก็ยิ้มพอกัน" แทน ซึ่งเสด็จพระองค์ชายใหญ่โปรดมากจึงได้เอามาใช้กับเพลง
  • ในการฉายรอบแรกซึ่งสมัยนั้นเรียกว่ารอบปฐมทัศน์เพื่อการกุศล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรภาพยนตร์ ณ โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2504
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าโปรแกรมฉายต้อนรับปีใหม่ปี พ.ศ. 2505 ที่ศาลาเฉลิมไทย เมื่อภาพยนตร์ออกฉายก็ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งรายได้และรางวัล และได้นำกลับมาฉายอีกครั้งที่โรงภาพยนตร์กรุงเกษม เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2506
  • ไชยา สุริยัน เป็นพระเอกคนแรกที่ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง 3 ปีซ้อน ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ ไชยา สุริยัน ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองดารานำชายยอดเยี่ยมตัวแรกไปครอง (ต่อมาไชยายังได้นำชายอีก 2 ตัวจากภาพยนตร์เรื่อง ภูตพิศวาส (2507) และ ธนูทอง (2508) ตามลำดับ)
  • ในช่วงปี พ.ศ. 2538 เสด็จพระองค์ชายใหญ่ทรงประทานบทภาพยนตร์เรื่องนี้ให้นำมาเรียบเรียงดัดแปลงเป็นนวนิยายครั้งแรก ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม
  • ในปี พ.ศ. 2548 ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้คัดเป็นหนึ่งใน 100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู ประเภทภาพยนตร์ดำเนินเรื่อง
  • ในปี พ.ศ. 2549 ทริปเปิ้ลเอ๊กซ์ฟิล์มได้วางจำหน่ายในรูปแบบวีซีดีและดีวีดี เป็นฉบับรีมาสเตอร์จากฟิล์มก๊อบปี้เก่าที่เคยนำออกฉายทั่วไปสมัยก่อนซึ่งมีบางส่วนขาดหายไป
  • หอภาพยนตร์แห่งชาติ มูลนิธิหนังไทย ได้รับฟิล์มภาพยนตร์สร้างครั้งแรกฉบับสมบูรณ์ ถูกนำมาบูรณะและเก็บรักษาไว้ที่หอภาพยนตร์ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยการสนับสนุนของ บริษัท เทคนิคคัลเลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2548 ใช้เวลาดำเนินงานกว่า 3 ปี งบประมาณ 10 ล้านบาท
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้จัดฉายอีกครั้งเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2551 เมื่อเวลา 17.30 น. ถึง 20.00 น. ที่โรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีเนเพล็กซ์ รัชโยธิน
  • ในปี พ.ศ. 2555 ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคัดเลือกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2555 เนื่องในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทยของหอภาพยนตร์
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อีกครั้งในปี พ.ศ. 2532 ต่อมาถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ออกอากาศทางช่อง 5 อีก 2 ครั้ง
 รูปแบบการนำเสนอ  เจน  แก้ว  ริน  เพ็ญ
 ภาพยนตร์ พ.ศ. 2504  ส. อาสนจินดา  ไชยา สุริยัน  จินฟง  มาเรีย จาง
 ภาพยนตร์ พ.ศ. 2532  รอน บรรจงสร้าง  สันติสุข พรหมศิริ  วิระ บำรุงศรี  สมรัชนี เกสร
 ละครช่อง 5 พ.ศ. 2538   ศรัณยู วงษ์กระจ่าง   พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง   จอนนี่ แอนโฟเน่  นุสบา วานิชอังกูร 
 ละครช่อง 5 พ.ศ. 2554  ยุกต์ ส่งไพศาล  ภาคิน คำวิลัยศักดิ์  นภัทร อินทร์ใจเอื้อ   บุษกร ตันติภนา

รางวัล และอนุสรณ์

  • รางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 5 ประจำปี พ.ศ. 2505
    • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ของ อัศวินภาพยนตร์)
    • นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (ไชยา สุริยัน)
    • นักแสดงประกอบชายยอดเยี่ยม (ส.อาสนจินดา)
    • ออกแบบและสร้างฉากยอดเยี่ยม (เฉลิม พันธุ์นิล)
    • บันทึกเสียงยอดเยี่ยม (น้อย บุนนาค)
  • โครงการของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
    • 100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู ประเภทภาพยนตร์ดำเนินเรื่อง (พ.ศ. 2548)
    • มรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2555)
  • 70 สุดยอดภาพยนตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2561) จัดโดย คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ
Advertisement