ไทยบันเทิง

🚧 โปรดทราบ เนื่องจากในตอนนี้ฐานข้อมูลของเรายังไม่สมบูรณ์ 😲😲 เนื่องจากระบบวิกิเป็นระบบที่ใหญ่และต้องมีฐานข้อมูลที่ครอบคลุม หากว่าท่านใดมีข้อมูลต้องการที่จะนำมาเผยแพร่ในฐานะมรดกทางภูมิปัญญาให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ ท่านสามารถล็อกอินผ่านบัญชี Facebook ได้โดยกดไปที่ Sign In with Facebook และร่วมพูดคุยกับเราได้ที่นี่ 🙋😉

READ MORE

ไทยบันเทิง
Advertisement
✨🌟   เงิน เงิน เงิน (2508)
เงิน เงิน เงิน (2508)
  • ประเภท : Comedy / Romance / Musical / Drama
  • ผู้กำกับ : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ
  • พระนิพนธ์ : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ
  • บทภาพยนตร์ : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ
  • ผู้ช่วย : จรี อมาตยกุล
  • ผู้ถ่ายภาพ : โสภณ จงเสถียร
  • ผู้ลำดับภาพ : จุรัย เกษมสุวรรณ
  • อำนวยการสร้าง : หม่อมอุบล ยุคล
  • บริษัทผู้สร้าง : ละโว้ภาพยนตร์
  • จัดจำหน่าย : เอวันฟิล์ม
  • วันที่เข้าฉาย : 28 ธันวาคม 2508 ฉายที่โรงภาพยนตร์เฉลิมเขตร์
  • ระบบถ่ายทำ : ภาพยนตร์สีอิสต์แมน 35 มม.ซุปเปอร์ซีเนสโคป พากย์เสียงในฟิล์ม

เรื่องย่อ

เพลงพราว...ดาวพรู...ดูเพลิน เมื่อได้ชม เงิน เงิน เงิน ฉายแล้วจ้า...เฉลิมเขตร์ ไม่รวยก็ปิ๋ว...
หนังมาตรฐาน ระบบซูเปอร์ซีเนสโคป สีอิสต์แมน เต็มจอยักษ์เฉลิมเขตร์ ฟัง 14 เพลงเพราะ จาก 15 ยอดนักเพลง
เพลงพราว ดาวพรู ดูเพลิน 62 ดารา 14 เพลงเอก ทั่วโลกยอมรับแล้วว่า "เงิน เงิน เงิน" เป็นหนึ่งไม่มีสอง!
35 ม.ม.เสียงในฟิล์ม ซุปเปอร์ซีเนสโคป สีอิสต์แมน

ขุนหิรัญ (อบ บุญติด) นายทุนเงินกู้ วัตโกเศรษฐกิจ มอบหมายให้หลานชาย ตุ๊ อรรคพล (มิตร ชัยบัญชา) เอาสัญญาเงินกู้ไปขู่บังคับชาวบางรื่นสุข ให้ย้ายออกด่วนเพื่อเอาที่ดินไปทำธุรกิจตึกแถวร่วมกับ คุณนายเม้า (สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต) หุ้นส่วน

ซึ่งอรรคพลไม่ชอบวิธีการเช่นนี้ และเมื่อได้พบกับชุมชนที่สุขสงบ เรียบง่าย รวมทั้งกลุ่มวงดนตรีแก๊งค์เด็กวัดอารามบอย ทำให้ความหวังที่จะทำธุรกิจบันเทิงอย่างที่ตนเองฝันไว้ผุดขึ้นมาอีกครั้ง จึงรวมกลุ่มกับแก๊งค์เด็กวัดเพื่อเปิดกิจการไนท์คลับ แต่ก็ถูกกลั่นแกล้งจากท่านขุน

ขณะเดียวกัน ภารดี (สุมาลี ทองหล่อ) น้องสาวแอบรักชอบกับ รังสรรค์ (ชรินทร์ นันทนาคร) ครูสอนเปียโนฐานะยากจน เมื่อหลานชายกับหลานสาวไม่ได้ดังใจ เศรษฐีหน้าเลือดอย่างท่านขุน จึงไล่ทั้งคู่ออกจากบ้าน โดยยื่นเงื่อนไขให้เอาเงินมาไถ่ที่ราคาหนึ่งล้านบาท

เหตุการณ์พลิกผันให้อรรคพลพบกับแม่ที่พลัดพรากกัน (วิไลวรรณ วัฒนพานิช) และได้ กิ่งแก้ว (เพชรา เชาวราษฎร์) เด็กขอทานผู้เป็นเสมือนพลังใจ จนทำให้ความสัมพันธ์พัฒนาเป็นความรัก และช่วยกันหาทางนำเงินมาไถ่ถอนที่ได้สำเร็จ

เป็นตัวอย่างของภาพยนตร์ที่สามารถเป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ชัดเจน ทำหน้าที่ปลอบประโลมใจคนยากคนจนให้มีความหวัง ที่จะฝันว่า จะมีพระเอกในฝัน หนุ่มหล่อ ลูกมหาเศรษฐีมาช่วย มาหลงรัก และครองรักกับเราอย่างชื่นมื่นสุขใจ

นักแสดง

Image Gallery & วีดีโอ

Trailer เงิน เงิน เงิน (2508)

เพลง หยาดเพชร Ost. เงิน เงิน เงิน (2508)

Ost. เงิน เงิน เงิน (2508)

ดูหนัง: เงิน เงิน เงิน (2508)

ขอขอบคุณหนังเต็มเรื่องแบบถูกลิขสิทธิ์จาก หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

เกร็ด

 ภาพยนตร์ที่สร้างโดย "เสด็จพระองค์ชายเล็ก" ของวงการหนังไทยในยุคนั้น นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา และ เพชรา เชาวราษฏร์ คู่พระนางยอดนิยมสูงสุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย และขนผู้แสดงประกอบมาเกือบทั้งวงการภาพยนตร์ไทยในขณะนั้น ด้วยการรวมเหล่าดารานักแสดงไว้มากมาย ถึง 60 กว่าคน ใช้คำโฆษณาว่า "เพลงพราว ดาวพรู ดูเพลิน" สามารถทำรายได้มากเป็นประวัติการณ์
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 มม. ในระบบซูเปอร์ซีเนสโคป สีอีสต์แมน เสียงพากย์ในฟิล์ม นับเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่มิตรและเพชราได้แสดงหนังไทยมาตรฐานสากลตลอดเรื่อง ความยาวถึงสามชั่วโมงเศษ
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สร้างปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่ของวงการหนังไทย ด้วยการรวมดารานักแสดงไว้มากมาย ถึง 60 กว่าคน น่าจะได้ชื่อว่ามีดารามาร่วมแสดงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของหนังไทย ความที่พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ผู้กำกับการแสดงเรื่องนี้ ทรงเป็นผู้ใหญ่ที่ทุกคนเคารพรัก ดารามากมายจึงมาร่วมแสดงทั้งเป็นดารานำ สมทบและรับเชิญ โดยใช้คำโฆษณาว่า เพลงพราว ดาวพรู ดูเพลิน
  • เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้มีทั้งหมด 14 เพลง จาก 15 ยอดนักเพลง อาทิ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริจักรพันธุ์, คณะสามศักดิ์, ชรินทร์ นันทนาคร, เอื้อ สุนทรสนาน, แก้ว อัจฉริยะกุล, สง่า อารัมภีร์, สมาน กาญจนผลิน, ชาลี อินทรวิจิตร, สุรพล โทณะวณิก, พร ภิรมย์ เป็นต้น
  • เพลงประกอบภาพยนตร์เด่นในเรื่องนี้ ได้แก่เพลง
ชื่อเพลง คำร้องโดย ทำนองโดย
หยาดเพชร ชาลี อินทรวิจิตร สมาน กาญจนผลิน
แค่คืบ สง่า อารัมภีร์ สง่า อารัมภีร์
เงิน เงิน เงิน แก้ว อัจฉริยะกุล นารถ ถาวรบุตร
อารามบอย แก้ว อัจฉริยะกุล เวส สุนทรจามร
มาร์ชลูกหนี้ อาจินต์ ปัญจพรรค์ - นารถ ถาวรบุตร
ร่มเกล้า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริจักรพันธุ์
  • พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริจักรพันธุ์ ทรงพระนิพนธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ครั้งแรก ชื่อเพลง ร่มเกล้า และครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้ปรากฏตัวร้องเพลงนี้ในภาพยนตร์เรื่องเดียวในชีวิต [1]
  • ตัวอย่างหนังเรื่อง เงิน เงิน เงิน เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ใช้เสียงจริง (ซาวด์ออนฟิล์ม) ของ มิตร ชัยบัญชา เป็นผู้บรรยายแนะนำขนาดจอโค้งด้วยตนเอง
  • เป็นครั้งแรกในหนังไทยที่มีแนวคิดล้ำยุคล้อเลียนการใช้คอมพิวเตอร์สำนักงานซึ่งยังไม่มีใช้กันทั่วไปในเมืองไทยขณะนั้น
เงิน เงิน เงิน 03
  • ผู้สร้างภาพยนตร์ทำซองพลาสติกรูปถุงใส่เหรียญสิบสตางค์ ระบุข้อความว่า "ละโว้ภาพยนตร์ เสนอ เงิน เงิน เงิน ที่ เฉลิมเขตร์" เป็นของที่ระลึกแจกผู้ชม
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์พากย์เสียงในฟิล์ม 35 มม. แต่เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างฉายในสมัยที่หนัง 16 มม.พากย์สดๆ กำลังได้รับความนิยม ดังนั้น เวลาไปฉายในต่างจังหวัดที่ไม่มีเครื่องฉายหนัง 35 มม. ผู้จัดจำหน่ายก็จะต้องพิมพ์ย่อเป็นฟิล์ม 16 มม.สโคป เสียงในฟิล์ม ไปให้ฉายแทน
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปี พ.ศ. 2555 เนื่องในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทยของหอภาพยนตร์ [2]
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกนำมาสร้างใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2526 ในรูปแบบภาพยนตร์เพลง กำกับโดย ยุทธนา มุกดาสนิท และในปี พ.ศ. 2540 นำกลับมาสร้างใหม่เป็นละครโทรทัศน์หลังข่าวภาคค่ำทางช่อง 7
  • เดือนเมษายน พ.ศ. 2550 ได้มีการนำเรื่อง เงิน เงิน เงิน มาแสดงเป็นละครเวที "AF The Musical ตอน เงิน เงิน เงิน" จำนวน 12 รอบ โดยบริษัททรู แฟนเทเชีย ซึ่งมีนักแสดงจาก ทรู อะคาเดมี แฟนเทเชีย นำแสดง
รูปแบบการนำเสนอ ตุ๊ อรรคพล กิ่งแก้ว รังสรรค์ ภารดี
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2508 มิตร ชัยบัญชา เพชรา เชาวราษฎร์ ชรินทร์ นันทนาคร สุมาลี ทองหล่อ
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2526 เกรียงไกร อุณหะนันท์  อภิรดี ภวภูตานนท์ อโนเชาว์ ยอดบุตร ปาหนัน ณ พัทลุง
ละครช่อง 7 พ.ศ. 2540 เอกรัตน์ สารสุข ฌัชฌา รุจินานนท์ ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี  เกวลิน คอตแลนด์  
ละครเวที พ.ศ. 2550 พิษณุ นิ่มสกุล พัดชา เอนกอายุวัฒน์  เกียรติกมล ล่าทา มิณฑิตา วัฒนกุล

รางวัล และอนุสรณ์

  • รางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 8 ประจำปี พ.ศ. 2508
    • เพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ละโว้ภาพยนตร์)
    • โล่เกียรตินิยม ในฐานะดารานำชาย-หญิง ที่ทำเงินรายได้มากที่สุด (มิตร ชัยบัญชา - เพชรา เชาวราษฎร์)
  • โครงการของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
    • 100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู ประเภทภาพยนตร์ดำเนินเรื่อง (พ.ศ. 2548)
    • มรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2555)
  • 70 สุดยอดภาพยนตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2561) จัดโดย คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ
Advertisement