ไทยบันเทิง

🚧 โปรดทราบ เนื่องจากในตอนนี้ฐานข้อมูลของเรายังไม่สมบูรณ์ 😲😲 เนื่องจากระบบวิกิเป็นระบบที่ใหญ่และต้องมีฐานข้อมูลที่ครอบคลุม หากว่าท่านใดมีข้อมูลต้องการที่จะนำมาเผยแพร่ในฐานะมรดกทางภูมิปัญญาให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ ท่านสามารถล็อกอินผ่านบัญชี Facebook ได้โดยกดไปที่ Sign In with Facebook และร่วมพูดคุยกับเราได้ที่นี่ 🙋😉

READ MORE

ไทยบันเทิง
Advertisement
✨🌟   สันติ-วีณา (2497)
สันติ-วีณา (2497) 1

ผลงานใบปิดโดย แสงอาทิตย์

Teaser_สันติ-วีณา

Teaser สันติ-วีณา

  • ชื่ออังกฤษ : Santi-Vina
  • ประเภท : Drama / Romance
  • ผู้กำกับ : มารุต (ทวี ณ บางช้าง)
  • บทประพันธ์ : โรเบิร์ต จี นอร์ธ
  • บทภาพยนตร์ : ทวี ณ บางช้าง, วิจิตร คุณาวุฒิ
  • ผู้ถ่ายภาพ : รัตน์ เปสตันยี A.P.R.S.
  • ผู้กำกับศิลป์ : อุไร ศิริสมบัติ
  • ดนตรีประกอบ : นารถ ถาวรบุตร
  • บันทึกเสียง / ผสมเสียง : ปง อัศวินิกุล
  • อำนวยการสร้าง : โรเบิร์ต จี นอร์ธ, รักษ์ ปัณยารชุน
  • บริษัทผู้สร้าง : หนุมานภาพยนตร์, ฟาร์อีสต์ฟิล์ม
  • วันที่เข้าฉาย : 30 ธันวาคม 2497 ฉายที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์ / 28-31 กรกฎาคม 2559 ฉายเฉพาะที่ SF World Cinema เซ็นทรัลเวิลด์
  • ระบบถ่ายทำ : ภาพยนตร์สี 35 มม. พากย์เสียงในฟิล์ม

เรื่องย่อ

หนุมานภาพยนตร์ เสนอ ภาพยนตร์ที่ชนะการประกวดภาพยนตร์นานาชาติ สันติ-วีณา ภาพยนตร์ 35 ม.ม.สีสวยสด เสียงในฟิล์ม
ภาพยนตร์ไทย-สี-เสียง 35 ม.ม. เรื่องแรกของประเทศไทย สันติ-วีณา ชนะการประกวดรางวัล 3 รางวัลโลกภาคเอเชีย

สันติ เด็กชายกำพร้าวัย 12 ปี จากเหตุการณ์ภูเขาถล่มเป็นเหตุให้เขาสูญเสียแม่ทั้งนัยน์ตาสองข้างในเวลาเดียวกัน ทุกเช้า วีณา เพื่อนบ้านวัยไล่เลี่ยกันจะช่วยจูงสันติไปโรงเรียน ถึงแม้สันติจะตาบอดก็ยังถูก ไกร ซึ่งมีนิสัยเกเรแกล้งอยู่เป็นนิจ โดยหักขลุ่ยอันเป็นที่รักของสันติหักคามือ วันหนึ่งพระภิกษุวัยชราเพิ่งกลับจากธุดงค์แวะมาเยี่ยมสันติ และขอรับสันติไปอยู่ที่วัดเขาน้อย

ตลอดเวลาที่อยู่ในถ้ำกับหลวงตา วีณายังคงแวะเวียนไปหาสันติอย่างสม่ำเสมอ สร้างความไม่พอใจให้ไกรซึ่งหมายปองวีณาอย่างมาก ทุกเย็นก่อนพระอาทิตย์จะตกดิน สันติจะนั่งเป่าขลุ่ยบนก้อนหินข้างถ้ำ รอคอยการมาของวีณา แต่แล้ววันหนึ่งวีณาก็หายไป สันติปฏิบัติอย่างเดิมวันแล้ววันเล่า โดยที่ไม่รู้ว่า วีณาถูกกักตัวให้อยู่แต่ในบ้าน เพราะแม่ของไกรมาสู่ขอวีณา วีณาหนีออกมาได้ในวันหนึ่งและมาขอร้องให้สันติช่วยพาเธอหนีไกรแค้นมากสั่งลูกน้องตามล่าสันติกับวีณาแทบพลิกแผ่นดินเมื่อพบทั้งสองก็กระหน่ำชกสันติไม่ยั้ง วีณารีบไปตามหลวงตามาช่วยได้ทัน

สันติยืนยันกับหลวงตาว่าจะหาทางหนีอีกครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จเช่นเคย วีณาถูกพาตัวกลับไปบ้าน ส่วนสันติถูกทำร้ายจนสลบ หลวงตาจึงพาสันติกลับมายังวัดถ้ำ สันติเหม่อลอยไร้สติอย่างหนักยิ่งรู้ว่าจวนถึงวันแต่งงานของวีณา จนไม่ได้ยินเสียงหินที่กำลังร่วงหล่นในถ้ำ หลวงตารีบวิ่งเข้าไปฉุดสันติ ส่วนตนเองถูกก้อนหินทับตาย ตาของสันติมองเห็นอีกครั้ง ภาพแรกที่สันติเห็นคือภาพความตายของหลวงตาซึ่งเลี้ยงดูสันติมาตั้งแต่เด็กสันติจึงตัดสินใจบวชเพื่อหาความสุขสงบอย่างแท้จริง

นักแสดง

นักแสดง รับบทเป็น
พูนพันธ์ รังควร สันติ
เรวดี ศิริวิไล วีณา
วิชัย ภูติโยธิน ไกร
จมื่นมานพนริศร์ หลวงตา
ร.ท. นูญ บุญรัตน์พันธ์ เสริม
ด.ช. วีระชัย แนวบุญเนียร สันติ (วัยเด็ก)
ด.ญ. ปิยะฉัตร (อนุฉัตร โตษยานนท์) วีณา (วัยเด็ก)
ด.ช. พิบูล ทุมมานนท์ ไกร (วัยเด็ก)

Image Gallery & วีดีโอ

Teaser สันติ-วีณา

Trailer สันติ-วีณา

ค้นพบฟิล์มหนัง สันติ-วีณา

ดูหนัง: สันติ-วีณา (2497)

เกร็ด

  • ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องยาวเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มสีอีสต์แมน 35 มม.ไวด์สกรีน เสียงในฟิล์ม เป็นผลงานภาพยนตร์ชิ้นแรกของบริษัทหนุมานภาพยนตร์ โดย รัตน์ เปสตันยี ซึ่งเป็นทั้งผู้ถ่ายภาพและลำดับภาพ
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์สี 35 มม.เรื่องแรกของ รัตน์ เปสตันยี ผู้สร้างและผู้กำกับภาพยนตร์ที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทย และเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องยาวเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ
  • ครูมารุตเคยร่วมงานกับ รัตน์ เปสตันยี มาแล้วจากภาพยนตร์เรื่อง พันท้ายนรสิงห์ (2493) โดยครั้งนั้น รัตน์ เปสตันยีรับหน้าที่กำกับภาพ และครูมารุตเป็นผู้กำกับเช่นเดิม
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำในระบบ 35 ม.ม. ด้วยจุดเด่นนอกจากเรื่องราวของความรักแล้ว การถ่ายภาพเพื่อแสดงวิถีชีวิตในชนบทไทยยังงดงามตื่นตา สะท้อนความเชื่อทางสังคมขนบประเพณีศาสนา
  • ด้านนักแสดงพระเอกของเรื่องคือ พูนพันธ์ รังควร ขณะที่เขาเล่นกอล์ฟ รัตน์ เปสตันยีได้เห็นแสงแดดตกกระทบซีกครึ่งหน้าของเขาและเกิดความรู้สึกทึ่งกับใบหน้าอันคมคาย จึงชักชวนเขาไปแสดงเป็นสันติ พระเอกของเรื่อง (ข้อมูลจากสูจิบัตรสันติ-วีณา)
  • นางเอกที่วางตัวไว้ตอนแรกคือ วิไลวรรณ วัฒนพานิช แต่ตอนหลังมีปัญหาเรื่องค่าตัวกันเลยเปลี่ยนนางเอกเป็น เรวดี ศิริวิไล
  • เรวดี ศรีวิไล ที่ซึ่งแสดงเป็นวีณา แต่เดิมเธอชื่อว่า “เฉลิมศรี” งานและหน้าที่ของเธอคือเลขานุการของหนุมานภาพยนตร์ซึ่งเป็นบริษัทผู้สร้าง (ข้อมูลจากสูจิบัตรสันติ-วีณา)
สันติ-วีณา รอบปฐมทัศน์
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรรอบปฐมทัศน์ที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลจากการประกวดนานาชาติ ในปี พ.ศ. 2497 จากงานประกวดภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ ที่กรุงโตเกียว ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยได้จัดฉายในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 เวลา 10.00 น.
  • นอกจากนี้ภาพยนตร์ได้รับไปฉายประกวดในงานชุมนุมสัปดาห์ภาพยนตร์เอเชีย (Asian Film Week) ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2500
Santi4
  • ในช่วงเวลานั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีนโยบายที่จะถ่วงดุลทางการทูตกับสหรัฐอเมริกาที่พยายามเข้ามาแผ่อำนาจเพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ แม้ทางไทยจะต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากอเมริกาแต่ก็พยายามที่จะเป็นมิตรกับประเทศในภูมิภาคอย่างโซเวียตด้วยเมื่อทางสถานทูตรัสเซียขอซื้อภาพยนตร์ สันติ-วีณาไปฉาย เนื่องจากมีรางวัลที่ญี่ปุ่นการันตีทางรัฐบาลไทยก็ยินดีและข่าวที่เผยแพร่ออกมาเป็นรูปแบบของการเผยแพร่ทางวัฒนธรรมและเป็นไปในรูปของเอกชน
  • หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ไปฉายในต่างประเทศแล้ว วงการภาพยนตร์ไทยก็มีแนวโน้มถ่ายทำในระบบ 35 มม. มากขึ้นเพื่อสะดวกในการนำไปฉายในต่างประเทศ ต่อมารัสเซียติดต่อซื้อภาพยนตร์ 16 มม. เนื่องจากช่วงนั้นส่วนใหญ่ยังนิยมถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มม. เช่น สาวเครือฟ้า (2496), ศรีปราชญ์ (2500)
  • ภายหลังการประกวด รัตน์นำฟิล์มต้นฉบับของภาพยนตร์กลับประเทศไทย แต่กลับถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าฟิล์มภาพยนตร์ จึงจำเป็นต้องทิ้งฟิล์มเนกาทีฟไว้ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อที่จะส่งกลับไปเก็บรักษาที่ห้องแล็บของบริษัทแรงค์ แลบอราทอรี่ส์ ประเทศอังกฤษ และสันนิษฐานว่าระหว่างขนส่งทางเรือฟิล์มต้นฉบับได้รับความเสียหาย จึงทำให้ที่ผ่านมาไม่มีการค้นพบฟิล์มต้นฉบับของภาพยนตร์เรื่องนี้ ส่วนฟิล์มที่ใช้สำหรับฉายก็ไม่หลงเหลืออยู่ในประเทศไทย [1]
  • หลังจากอยู่ในสถานะหายสาบสูญมาเนิ่นนาน ในปี พ.ศ. 2557 หอภาพยนตร์ได้ค้นพบฟิล์มต้นฉบับภาพยนตร์เรื่องนี้ที่สถาบันภาพยนตร์อังกฤษ (British Film Institute) รวมทั้งพบสำเนาฟิล์มสำหรับฉายที่ China Film Archive ประเทศจีน และ the Gosfilmofond ประเทศรัสเซีย
  • ในปี พ.ศ. 2557 ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคัดเลือกเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 4 โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับภาพยนตร์ไทยอีก 24 เรื่อง
  • หอภาพยนตร์ได้ให้แลปอนุรักษ์ภาพยนตร์ L' Immagine Ritrovata ในอิตาลีทำการบูรณะให้นำกลับมาฉายอีกครั้ง โดยฉบับบูรณะจะจัดฉายเฉพาะที่โรงภาพยนตร์ SF World Cinema เซ็นทรัลเวิลด์ ในวันที่ 28-31 กรกฎาคม 2559
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถูกนำไปจัดฉายที่เ­ทศกาลภาพยนตร์นานานาชาติ เมืองคานส์ ครั้งที่ 69 ประจำปี พ.ศ. 2559 ภาพยนตร์เรื่องนี้ในฉบับบูรณะสมบูรณ์ความละเอียด 4K ได้รับเกียรติให้ฉายในสายโปรแกรม Cannes Classic
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกนำกลับมาสร้างใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2519 เขียนบทโดย ครูมารุต กำกับและอำนวยการสร้างโดย สันต์ เปสตันยี นำแสดงโดย นาท ภูวนัย, นัยนา ชีวานันท์, สมภพ เบญจาธิกุล, มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา, เสถียร ธรรมเจริญ, จวง ยอดกลกิจ และ พูนพันธ์ รังควร ผู้รับบทที่เคยรับบทสันติมารับบทเป็นพ่อ
ภาพยนตร์ สันติ วีณา ไกร
สันติ-วีณา (2497) พูนพันธ์ รังควร เรวดี ศิริวิไล วิชัย ภูติโยธิน
สันติ-วีณา (2519) นาท ภูวนัย นัยนา ชีวานันท์ สมภพ เบญจาธิกุล

รางวัล และอนุสรณ์

  • ภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ ประเทศญี่ปุ่น ประจำปี พ.ศ. 2497
    • ถ่ายภาพยอดเยี่ยม (รัตน์ เปสตันยี)
    • กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (อุไร ศิริสมบัติ)
    • รางวัลพิเศษเป็นกล้องถ่ายภาพยนตร์ จากสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งอเมริกา สำหรับภาพยนตร์ที่มีการเผยแพร่วัฒนธรรมดีเด่น
  • โครงการของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
  • 70 สุดยอดภาพยนตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2561) จัดโดย คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ
Advertisement