- ประเภท : Drama / Crime / Mystery
- ผู้กำกับ : จรูญ วรรธนะสิน
- บทภาพยนตร์ : สายัณห์ สินบัว, จรูญ วรรธนะสิน, ชลัท ศรีวรรณา
- กำกับภาพ : ชลัท ศรีวรรณา
- ลำดับภาพ : ชลัท ศรีวรรณา
- เพลงประกอบ : ภาณุ เทศะศิริ, วงดนตรี Blue Sky, พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์, วงดนตรี The Sun
- ดนตรีประกอบ : กฤษณ วงศ์สุข
- บันทึกเสียง : ชาคริต บริบูรณ์, ในกรม กิจจะวัฒน์
- อำนวยการผลิต : ชูชาติ โตประทีป
- อำนวยการสร้าง : เจริญ เอี่ยมพึ่งพร
- บริษัทผู้สร้าง / จัดจำหน่าย : ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น, บริษัท สตูดิโอกรุงเทพ จำกัด
- วันที่เข้าฉาย : 9 พฤศจิกายน 2544 ฉายที่โรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์-อีจีวี-เอสเอฟ ซีเนมา-ฯลฯ
- ระบบถ่ายทำ :
เรื่องย่อ[]
ความรัก...ความตาย...ความอัปยศ...ต้องดู..เพื่อตัวคุณเอง
เรื่องของรัก 4 เส้า ชาย 1 หญิง 3 ที่มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนยิ่งกว่านวนิยาย ระหว่าง เสี่ยหนุ่มใหญ่นักธุรกิจ นายวิชัย ชนะพานิช (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) กับเศรษฐีนีสาว น.ส.สุวิมล พงษ์พัฒน์ (เพ็ญพักตร์ ศิริกุล), น.ส.ทิพย์วรรณ แม่บ้านสาวของนายวิชัย และ เชอรี่ แอน (รุ่งนภา บรู๊ค) เด็กสาวแสนสวย ลูกครึ่งไทย-อเมริกัน อายุ 16 ปี และแล้ว ความรักที่ทุกคนหลงใหล ก็ได้นำไปสู่โศกนาฏกรรมการตายของ เชอรี่ แอน มีผู้พบศพเธอที่ป่าแสมใกล้ถนนสุขุมวิทสายเก่า หลักกิโลเมตรที่ 42 แถวบางปู สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2529
หลังการสอบสวนผู้เกี่ยวข้อง ภายใต้ความรับผิดชอบของ พ.ต.ท.เลิศล้ำ ธรรมนิสา (สุรศักดิ์ ชัยอรรถ) กับ พ.ต.ท.มั่งคั่ง ศรีพรพงษ์ (ฉัตรกฤษณ์ เพิ่มพานิช) นำไปสู่การจับกุม นายวิชัย ชนะพานิช พร้อมบริวาร 4 คน นายเฉลิมรุ่ง ชวาลชัย (ทวิน เคล้าเครือ), นายพิพัฒน์ ค้าขจร (สมหมาย นิลทาง), นายกระสิน มณีกลุ่ม (วิทวัส ทีทา) และนายธวิช กิจประยุทธ (บุญส่ง นาคภู่) ในข้อหาจ้างฆ่าและร่วมกันฆ่า โดยตำรวจได้แยกย้ายผู้ต้องหา ออกคุมขังกระจายไปตามสถานีตำรวจจำหวัดสมุทรปราการ
นางไพลิน พี่สาวของเสี่ยหนุ่ม ได้ว่าจ้างสำนักงานทนายเข้าแก้คดี เพ็ญนภา ธรรมรุ่งโรจน์ (ชฎาพร รัตนากร) ทนายสาวจึงเข้ามารับผิดชอบในคดีนี้ ในระหว่างการถูกคุมขัง ผู้ต้องหาต่างต้องเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ นานา
แม้ว่าเสี่ยหนุ่มใหญ่นายวิชัย จะรอดตัวอย่างหวุดหวิดจากการถอนฟ้องของอัยการท้องที่ เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ แต่บริวารของเขา 4 คน ก็ถูกฟ้องร้องด้วยหลักฐานปลอม พยานเท็จ จากการปรุงแต่งของตำรวจชั่ว จนถูกศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต และส่งตัวไปจองจำที่เรือนจำบางขวาง
เสี่ยวิชัยรู้ดีว่า ลูกน้องของเขาไม่ใช่ผู้กระทำผิด จึงนำเรื่องร้องเรียนไปทางกองปราบฯ ซึ่งก็ได้ตั้งทีมงานขึ้นสืบสวนลับทันที โดยมี พ.ต.อ.อดิศัย จิตตนะพัฒนา (อนันต์ สัมมาทรัพย์) เป็นหัวหน้าหน่วย และผู้ช่วย พ.ต.ท.นรินทร์ ธนาธรณ์ (ปราบ ยุทธพิชัย) ซึ่งร่วมทำงานกับทนายสาวเพ็ญนภาอย่างใกล้ชิด
ทั้งสองออกสืบสวนหาข้อเท็จจริงท่ามกลางการคุกคามอย่างลึกลับ จนได้พบความจริงว่า ผู้ต้องหา 4 คนเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะติดขั้นตอนทางกฎหมาย แพะรับบาปทั้งหมดต้องรอความหวัง จากกระบวนการยุติธรรมของศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ทุกคนจึงต้องแบกรับชะตากรรมอันเลวร้าย ต่อสิ่งที่ตนเองไม่ได้ก่อขึ้น
วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 เวลาผ่านไปร่วม 7 ปี ศาลฎีกาได้ยกฟ้องปล่อยตัวผู้บริสุทธิ์ทั้งหมด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับแพะทั้ง 4 คน คือสภาพครอบครัวแตกแหลกสลาย นายเฉลิมรุ่งเสียชีวิตในคุก นายพิพัฒน์และนายธวิช ติดโรคร้ายจากเรือนจำอย่างอ่อนเปลี้ย และเสียชีวิตหลังพ้นโทษไม่นาน เหลือเพียงหนึ่งเดียว นายกระสิน นอกจากต้องต่อสู้กับความปวดร้าวในสิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวแล้ว เขายังต้องแบกรับความเจ็บปวดไปชั่วชีวิต จากอาการบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง อันเป็นผลมาจากระบบการสอบสวนผู้ต้องหาของตำรวจเลว ขณะเค้นให้รับสารภาพเมื่อแรกถูกจับกุม
เมื่อคดีเดิมถึงที่สุด กองปราบฯ จึงสามารถรื้อฟื้นคดีขึ้นฟ้องร้องได้อีกครั้งหนึ่ง และนำไปสู่การจับผู้ต้องหาจ้างวาน น.ส.สุวิมล พงษ์พัฒน์ และติดตามไล่ล่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของเชอรี่ แอน คือ นายสมาน ธูปชิบาการ, นายสมจิต ปุญฤทธา, นายสมพจน์ ปุญฤทธา, นายจีระ ว่องไววิทย์ และพยานเท็จ นายประมวล พลัดโพชน์ เพื่อให้ศาลสถิตย์ยุติธรรม พิจารณาตัดสินลงโทษผู้กระทำผิดจริงจนสำเร็จ และจบด้วยข้อมูลต่างๆ ของผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ หลังจากคดีถึงที่สุดแล้ว...
นักแสดง[]
รุ่งนภา (แอนนี่) บรู๊ค | ชฎาพร รัตนากร | ศักราช ฤกษ์ธำรงค์ |
เชอรี่ แอน | เพ็ญนภา ธรรมรุ่งโรจน์ | เสี่ยวิชัย ชนะพานิช |
เพ็ญพักตร์ ศิริกุล | ปราบ ยุทธพิชัย |
สุวิมล พงษ์พัฒน์ | พ.ต.ท.นรินทร์ ธนาธรณ์ |
นักแสดงสมทบ-รับเชิญ :[]
- อนันต์ สัมมาทรัพย์ – พ.ต.อ.อดิศัย จิตตนะพัฒนา
- สุรศักดิ์ ชัยอรรถ – พ.ต.อ.เลิศล้ำ ธรรมนิสา
- ฉัตรกฤษณ์ เพิ่มพานิช – พ.ต.อ.มั่งคั่ง ศรีพรพงษ์
- ทวิน เคล้าเครือ – นายเฉลิมรุ่ง ชวาลชัย
- สมหมาย นิลทั่ง – นายพิพัฒน์ ค้าขจร
- วิทวัส ทีทา – นายกระสิน มณีกลุ่ม
- บุญส่ง นาคภู่ – นายธวิช กิจประยุทธ
- พัฒนา ปริมาส
- Bill England
- กุ้ง เกริกกิจ
- อิทธิกร ขำเดช
- ธนากร ชุ่มชูวัฒน์
- พรพรรณ อังคเศกวิไล
- พิมพา อังคเศกวิไล
Image Gallery & วีดีโอ[]
- ดูเพิ่มเติมที่ : [1]
เกร็ด[]
- ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริงจากคดี "เชอรี่ แอน" ที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2529 ช่วงแรกตำรวจได้จับกุมผู้ต้องสงสัย 4 คน ซึ่งทั้ง 4 คนถูกจำคุกก่อนที่จะพบว่าเป็นแพะ (แต่ใน 1 ในนั้นได้ถึงแก่กรรมระหว่างอยู่ในเรือนจำ ส่วนที่เหลือถึงแก่กรรมหลังได้รับการปล่อยตัว) จนตำรวจจับกุมผู้กระทำผิดจริง (รวมทั้งพยานเท็จ) เมื่อปี พ.ศ. 2538 หลังจากนั้น ทางตำรวจต้องจ่ายเงินชดเชยแก่เครือญาติของแพะทั้งหมด 26 ล้านบาท [2]
- คดีของ "เชอรี่ แอน" ปัจจุบันได้กลายมาเป็นคดีตัวอย่างที่นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัยต่างใช้ศึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน ปี พ.ศ. 2540 ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน กระบวนการยุติธรรม และสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งให้นักศึกษากฎหมายทุกคนคำนึงถึงหลักวิชาชีพของตนที่จะผดุงความยุติธรรมให้แก่สังคม
- ทีมงานสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ประกอบด้วย ผู้ช่วยผู้กำกับฯ ได้แก่ ภาคภูมิ วงศ์จินดา, สายัณห์ สินบัว ถ่ายภาพและให้แสงโดย บุญเลิศ โตประทีป ศิลปกรรม-เตรียมงานโดย เพชร เนตรงาม, มนตรี เหมือนมี, ศุภชัย แสงขำ, ปิยบุตร จิรบวร, ยุคนธร แก้วทอง ผู้ช่วยกล้องโดย มนูญ ชัยเวช, อนุวัช แก้วละเอียด บันทึกเสียงโดย ชาคริต บริบูรณ์, ในกรม กิจจะวัฒน์ คัดสรรผู้แสดงโดย ธนพร โสภณ, ชาติชาย เอมเจริญ เสื้อผ้าโดย นฤมล กิตติสุวรรณ แต่งหน้า-ทำผมโดย เบญจวรรณ สร้อยอินทร, ประไพพิศ รัตนคช ดนตรีประกอบภาพยนตร์โดย กฤษณ วงศ์สุข และถ่ายทำโดย บริษัท สตูดิโอกรุงเทพ จำกัด [3]
- ภาพยนตร์เรื่องนี้มีที่ปรึกษาคือ นายศิวะ แสงมณี อธิบดีกรมราชทัณฑ์, พล.ต.ท.ประกาศ ศาตะมาน, พล.ต.ต.อดิศร จินตนะพัฒน์, ศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร
- เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้แก่
- เพลง "ใคร" คำร้อง-ทำนองโดย ภาณุ เทศะศิริ ขับร้องโดยวงดนตรี Blue Sky
- เพลง "จำใจจาก" คำร้องโดย รุ่งเฉลิม กนกชวาลชัย ทำนองและขับร้องโดย พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์
- เพลง "เชอรี่ แอน" คำร้อง-ทำนองโดย ภาณุ เทศะศิริ บรรเลงและขับร้องโดยวงดนตรี The Sun
รางวัล[]
- รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี (ตุ๊กตาทอง) ประจำปี พ.ศ. 2544
- รางวัลพิเศษ "ตุ๊กตาเงิน" ดาวรุ่งฝ่ายชาย (ปราบ ยุทธพิชัย)
- ผู้แสดงบทร้ายยอดเยี่ยม (อาคเนย์ บุญทรง)