- ชื่ออังกฤษ : Criminal Without Sin
- ประเภท : Action / Drama / Crime
- ผู้กำกับ : หม่อมเจ้าศุกรวรรณดิศ ดิศกุล
- บทประพันธ์ : เสนีย์ บุษปะเกศ
- บทภาพยนตร์ : ประจิต จุลละพันธ์ (ประชุม จุลละภมร)
- ผู้ถ่ายภาพ : แท้ ประกาศวุฒิสาร
- ผู้ลำดับภาพ : หม่อมเจ้าศุกรวรรณดิศ ดิศกุล, แท้ ประกาศวุฒิสาร, ประชุม จุลละภมร
- ดนตรีประกอบ : อุโฆษ จันทร์เรือง
- เพลงประกอบ : เอื้อ สุนทรสนาน, แก้ว อัจฉริยะกุล
- อำนวยการสร้าง : สำเนา เศรษฐบุตร, แท้ ประกาศวุฒิสาร
- บริษัทผู้สร้าง : ปรเมรุภาพยนตร์
- วันที่เข้าฉาย : 28 มิถุนายน 2492 ฉายที่ศาลาเฉลิมกรุง
- ระบบถ่ายทำ : ภาพยนตร์สีธรรมชาติ 16 มม. ให้เสียงพากย์สด
เรื่องย่อ[]
ชีวิตของ "กำนันไทย" ที่ดูจะราบรื่นต้องมาพังทลาย เมื่อรับ "แฉล้ม" มาเป็นเมียน้อยเพื่อชดใช้หนี้ เมื่อ "คง" ชู้รักเก่าของแฉล้มมาปรากฏตัว แฉล้มกลับหลอกกำนันไทยว่าคงเป็นญาติ กำนันไทยผู้มีน้ำใจเชื้อเชิญให้คงมาอาศัยด้วยกัน หารู้ไม่ว่านั่นเป็นการต้อนรับโจรให้เขามาอยู่ในบ้านและส่งผลให้ชีวิตเขาต้องพังทลาย ภรรยาถูกฆ่าเสียชีวิต เขาถูกใส่ร้ายว่าเป็นฆาตกร ต้องหลบหนีกระเซอะกระเซิง แม้พยายามจะดับแค้นด้วยธรรมะแต่ด้วยความชั่วของคนเลวทำให้เขาต้องกลายเป็นเสือที่กลับมาเพื่อชำระแค้น
เมื่อคนดีต้องกลายเป็นเสือ ชีวิตของกำนันไทยที่ดูจะราบรื่นต้องมาพังทลาย เมื่อรับ แฉล้ม มาเป็นเมียน้อยเพื่อชดใช้หนี้ แต่เมื่อ คง ชู้รักเก่าของแฉล้มกลับมาปรากฏตัว แฉล้มจึงหลอกกำนันไทยว่าคงเป็นญาติ กำนันไทยผู้มีน้ำใจเชื้อเชิญให้คงมาอาศัยด้วยกัน หารู้ไม่ว่านั่นเป็นการต้อนรับโจรให้เขามาอยู่ในบ้าน ไม่นานนัก คงก็เริ่มเผยธาตุแท้เมื่อ กระถิน เมียรักของกำนันไทยล่วงรู้ความสัมพันธ์ของคงกับแฉล้ม คงจึงล่อให้กระถินตกเป็นของตนซ้ำยังข่มขู่และรีดไถทรัพย์กระถินตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สร้างความทุกข์ระทมแก่กระถินจนคิดฆ่าตัวตาย กำนันไทยรู้ความจริงเข้าก็ตรงดิ่งมาจัดการคง แต่ระหว่างที่กำลังชุลมุน อ้ายคงยิงพลาดไปโดนกระถินเสียชีวิต แถม กับ จ่าหอม เผอิญเดินผ่านแถวนั้นได้ยินเสียงปืนจึงรีบมายังที่เกิดเหตุ คงรีบหนีเอาตัวรอดทิ้งให้กำนันไทยซึ่งกำลังตะลึงงันตกเป็นผู้ต้องหาฆ่าเมียตัวเองเคราะห์ดีที่ได้สติรีบไหวตัวหนีกระเซอะกระเซิงมาถึงภูเขาลูกหนึ่ง ที่นั่น กำนันไทยได้พบพระธุดงค์ซึ่งได้เตือนสติว่าเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ไฟแค้นที่สุมอกกำนันไทยจึงสงบลง และอาศัยอยู่กับพระธุดงค์ตั้งแต่นั้นมา
แต่แล้ววันหนึ่ง ก็มีเสียงของชาวบ้านร่ำลือว่าเสือไทยกำลังออกอาละวาดที่ตำบลเกาะพลับพลาอย่างหนักได้ยินดังนั้น กำนันไทยก็สุดที่จะระงับโทสะ มุ่งหน้าหมายจะชำระแค้นอ้ายคงให้ตายคามือ ที่ริอาจสวมรอยใช้ชื่อของกำนันไทยออกปล้น ระหว่างทางกำนันไทยได้ช่วย กรอง หญิงกำพร้าซึ่งกำลังถูกเจ้าบิ๋นรังแก กรองขอติดตามกำนันไทยไปด้วย เมื่อได้ฟังเรื่องราวของกำนันไทย กรองก็อาสาจะพาจ่าหอมมาพบเพื่อเล่าความจริง
ที่ตำบลเกาะพลับพลา แถมได้ขึ้นเป็นกำนัน กรองพาจ่าหอมมาพบกำนันไทยได้สำเร็จ แต่วันรุ่งขึ้นจ่าหอมกลับกลายเป็นศพ มิหนำซ้ำกำนันไทยยังถูกใส่ร้ายว่าเป็นคนฆ่าจ่าหอม คงเริ่มย่ามใจออกปล้นโดยใช้ชื่อเสือไทยหนักข้อขึ้น กำนันไทยทนเห็นชาวบ้านเดือดร้อนไม่ได้ จึงยอมเป็นเสือไปปล้นเสือ เพื่อชิงทรัพย์มาคืนชาวบ้านดังเดิม โดยได้รับความช่วยเหลือจาก เดช และ แม่น คงไหวตัวทันจับกรองและแม่นเป็นตัวประกัน ถึงเวลาที่กำนันไทยจะชำระแค้น นำพรรคพวกบุกเข้าไปปลิดชีพคง
นักแสดง[]
นักแสดง | รับบทเป็น |
---|---|
สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ | เสือไทย |
สอางค์ ทิพย์ทัศน์ | กรอง |
ประชุม จุลละภมร | เสือคง |
เกื้อกูล อารีมิตร | แฉล้ม |
เทพ อักษรอินทร์ | แม่น |
ละออ ทิพยทัศน์ | กระถิน |
ยรรยง ศรีกุญชร | แถม |
พะยุง หอมกลิ่น | เดช |
หม่อมหลวงชูเกียรติ นิลรัตน์ | บิ๋น |
เชื้อ เปรมปรีนนท์ | จ่าหอม |
Image Gallery & วีดีโอ[]
เกร็ด[]
- ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากนวนิยายของ เสนีย์ บุษปะเกศ เรื่อง เสือไทยผู้สุภาพ ที่ลงตีพิมพ์เป็นตอนๆในนิตยสารนิกรวันอาทิตย์ โดยอิงมาจากเรื่องจริงของเสือไทย ซึ่งเป็นศิษย์อาจารย์เดียวกับกรมหลวงชุมพร
- ต้นทุนในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ประมาณแสนกว่าบาท โดย แท้ ประกาศวุฒิสาร ได้ไปเอาเงินจากทาง สำเนาว์ เศรษฐบุตร มาสร้างเป็นบางส่วน ทั้งแท้กับสำเนาว์สนิทกันมาตั้งแต่สมัยคุณแท้ทำงานอยู่ที่แผนกส่งเสิรมการท่องเที่ยว กระทรวงพานิชย์
- ประชุม จุลละภมร ทำหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์ โดยใช้นามปากกว่า ประจิต จุลพันธ์ นอกจากนี้ยังลำดับภาพและร่วมแสดงเป็นเสือคงในภาพยนตร์อีกด้วย
- แท้ ประกาศวุฒิสาร ชื่นชอบบทบาทของ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ จากละครเวทีเรื่องพันท้ายนรสิงห์ และอยากให้สุรสิทธิ์มาแสดงด้วย สุรสิทธิ์เองก็ตกลงเพราะเพิ่งจะผิดหวังจากทางอัศวินภาพยนตร์ที่จะสร้างภาพยนตร์เรื่อง พันท้ายนรสิงห์ (2493) แต่ตนเองไม่ได้เล่นบทพันท้ายเหมือนสมัยเป็นละครเวที และด้านนางเอกก็ได้ สองค์ ทิพยทัศน์ นางเอกจากภาพยนตร์เรื่อง แดนคนเดน (2484) ของบูรพาศิลป์มาแสดง
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำเมื่อปี พ.ศ. 2491 โดยถ่ายทำที่ทุ่งอรัญญิก ตำบลเกาะพลับพลา อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของแท้ ประกาศวุฒิสาร รวมเวลา 3 เดือนเต็ม
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำดนตรีประกอบโดย อุโฆษ จันทร์เรือง โดยมี เอื้อ สุนทรสนาน, แก้ว อัจฉริยะกุล ประพันธ์คำร้องเพลงประกอบ
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำด้วยฟิล์มสี 16 ม.ม. ใช้เสียงพากย์สด ให้เสียงพากย์โดย สุธรรม์ นาวานุเคราะห์ (พากย์เสียงเสือไทย), ประชุม จุลละภมร (พากย์เสียงเสือคงและตัวแสดงชายอื่นๆ), ม.ล.ชูเกียรติ นิลรัตน์ (พากย์เสียงบิ๋นและตัวแสดงชายอื่นๆ) และ สอางค์ ทิพย์ทัศน์ (พากย์เสียงตัวแสดงหญิงทั้งหมด)
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลสำเภาทอง บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และหม่อมเจ้าศุกรวรรณดิศ ได้รับรางวัลพิเศษในฐานะเป็นผู้นำในการสร้างภาพยนตร์ (16 มม.) ในการประกาศผลรางวัลตุ๊กตาทอง ประจำปี พ.ศ. 2500
- เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย ภาพยนตร์ได้สร้างปรากฏการณ์ทำรายได้ถึง 315,998 บาท ลบสถิติของภาพยนตร์ทุกเรื่องและทุกชาติที่เข้าฉายก่อนหน้านั้น และปลุกวงการหนังไทยให้ตื่นขึ้นจากพิษสงครามโลก ครั้งที่ 2
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบผลสำเร็จทางด้านรายได้อย่างดงาม จากความสำเร็จอย่างมากมายส่งผลให้ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยหันมานิยมสร้างด้วยฟิล์ม 16 มม. แทน 35 มม. เพราะการถ่ายทำในระบบดังกล่าวจะสะดวกรวดเร็วกว่าและเมื่อถ่ายทำเสร็จสามารถล้างฟิล์มแล้วนำออกฉายได้เลย
- เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความนิยมสูง จึงมีผู้สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับ "เสือ" ติดตามมาเป็นจำนวนมาก เช่น เสือไทยอาละวาด (สุภาพบุรุษเสือไทยภาคสมบูรณ์) ออกฉายเมื่อ พ.ศ. 2493 ต่อมาสร้างใหม่ พ.ศ. 2522 โดย จารึก สงวนพงษ์ นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี รับบท เสือไทย
- ปัจจุบัน ภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ในสถานะหายสาบสูญ เหลือไว้แต่เพียงเบื้องหลังการถ่ายทำที่ แท้ ประกาศวุฒิสาร ได้เก็บรักษาไว้ และมอบให้หอภาพยนตร์อนุรักษ์
รางวัล และอนุสรณ์[]
- รางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2500
- รางวัล "สำเภาทอง" บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ประจิต จุลละพันธ์)
- 70 สุดยอดภาพยนตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2561) จัดโดย คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ