- ประเภท : Drama / Romance
- ผู้กำกับ : มารุต (ทวี ณ บางช้าง)
- พระนิพนธ์ : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
- บทภาพยนตร์ : มารุต (ทวี ณ บางช้าง)
- ผู้ถ่ายภาพ : แท้ ประกาศวุฒิสาร
- ผู้ลำดับภาพ : นิทัศน์ ประกาศวุฒิสาร
- ออกแบบงานศิลป์ : "เสวี" แห่ง "สยามสมัย"
- อำนวยการสร้าง : กมล โกมลมิศร์
- บริษัทผู้สร้าง : ไทยไตรมิตรภาพยนตร์
- วันที่เข้าฉาย : 16 มกราคม 2496 ฉายที่โรงภาพยนตร์นิวโอเดียน
- ระบบถ่ายทำ : ภาพยนตร์สีธรรมชาติ 16 มม. ให้เสียงพากย์สด
เรื่องย่อ
เช้าวันหนึ่ง ณ เมืองเชียงใหม่ มีโทรเลขถึงอดีตที่ปรึกษาข้าหลวง แจ้งข่าวการเสียชีวิตของ นายพลตรีหลวงณรงค์รักษ์ศักดิ์สงคราม อดีตสหายรักที่ห่างหายกันไปนาน โศกนาฏกรรมในอดีตจึงผุดขึ้นมาในห้วงคำนึง
เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน ท่านที่ปรึกษาข้าหลวงได้มีโอกาสต้อนรับ หลวงณรงค์ฯ หรือ ร้อยตรีพร้อม ณรงค์รักษ์ ซึ่งมาประจำการยังเชียงใหม่ ร้อยตรีพร้อมพบรักกับสาวช่างฟ้อน ชื่อ เครือฟ้า จนให้กำเนิดพยานรักขึ้นมาคนหนึ่ง แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อร้อยตรีพร้อมต้องเดินทางไปปฏิบัติราชการที่กรุงเทพกะทันหัน กว่า 2 ปี ที่เครือฟ้าเฝ้านับวันรอคอยการกลับมาของสามีซึ่งดูจะไร้วี่แววจดหมายที่ส่งไปไม่เคยได้รับการตอบกลับ ระหว่างนั้น แม้ชายอื่นจะมาสู่ขอเครือฟ้าแต่งงานแต่เธอก็ยังคงซื่อตรงต่อสามี จนกระทั่งวันหนึ่ง ที่ปรึกษาข้าหลวงมาแจ้งข่าวว่าร้อยตรีพร้อมกำลังเดินทางกลับเชียงใหม่ หัวใจที่เคยห่อเหี่ยวก็เบิกบานอีกครั้ง
เครือฟ้าจัดแจงเตรียมสำรับเพื่อต้อนรับสามีแต่ก็ต้องผิดหวัง เมื่อร้อยตรีพร้อม ซึ่งบัดนี้ได้เลื่อนยศเป็น นายพลตรีหลวงณรงค์รักษ์ศักดิ์สงคราม มาขอแยกทาง เพราะถูกบิดาบังคับให้แต่งงานกับ จำปา ที่กรุงเทพ เมื่อผัวรักลืมความหลังครั้งเก่าจนหมดสิ้น ลืมทั้งเมืองเชียงใหม่ ทั้งเครือฟ้า ลืมแม้กระทั่งเลือดเนื้อเชื้อไขของตนเอง เครือฟ้าได้แต่กล้ำกลืนน้ำตาด้วยความระทมใจจนคิดฆ่าตัวตาย เครือฟ้าขังตัวอยู่ในห้องพระ ร้องไห้เป็นบ้าเป็นหลังพลางเย้ยหยันที่บูชาความรักมากกว่าชีวิตของตัวเอง แล้วจรดปลายมีดกดลงบนคอ ก่อนที่ร่างของเครือฟ้าจะล้มลงบนพื้นห้อง ร้อยตรีพร้อมก็พังประตูเข้ามา ประคองร่างเครือฟ้าที่กำลังจะหมดลมหายใจ เครือฟ้าฝากฝังลูกน้อยด้วยน้ำเสียงอันแผ่นเบาแล้วจากไปอย่างไม่มีวันกลับ
นักแสดง
นักแสดง | รับบทเป็น |
---|---|
วิไลวรรณ วัฒนพานิช | เครือฟ้า |
ชลิต สุเสวี | ร้อยตรีพร้อม ณรงค์รักษ์ |
สุจิตรา ทิพยทัศน์ | จำปา |
ฉัตร โหสุภา | พระรามพลพ่าย |
สมพงษ์ พงษ์มิตร | พลทหารเขียว |
จมื่นมานิตย์นเรศร์ | เจ้าสายน้ำผึ้ง |
พลอยศรี เมฆขยาย | คำแก้ว |
รัตนา ทิพยทัศน์ | คำเจิด (พี่เลี้ยงเครือฟ้า) |
สถิตย์ เลียงมหาราช | หนานนิล |
บุญตา จันทะแก้ว | พ่อเฒ่าสน |
บัวเขียว จันทะแก้ว | แม่เฒ่าบุญตรู |
สนิท เหมือนประสิทธิเวช | คนขับรถม้า |
สอางค์ ทิพยทัศน์ |
Image Gallery & วีดีโอ
เกร็ด
- ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากบทละครร้องเรื่อง สาวเครือฟ้า พระนิพนธ์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ โดยใช้นามแฝงว่า ประเสริฐอักษร ซึ่งเคยจัดแสดงที่โรงละครปรีดาลัย มีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์อีกหลายต่อหลายครั้ง ดังนี้
รูปแบบการนำเสนอ | เครือฟ้า | ร้อยตรีพร้อม | จำปา |
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2477 | ชื่นจิตต์ แสงวรรณเทศ | อุดม วรมิตร | ละม้าย สุวรรณพานิช |
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2496 | วิไลวรรณ วัฒนพานิช | ชลิต สุเสวี | สุจิตรา ทิพยทัศน์ |
ละครช่อง 4 พ.ศ. 2506 | สว่างจิตร กาญจนเสถียร | นฤพนธ์ ดุริยพันธุ์ | |
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2508 | พิศมัย วิไลศักดิ์ | มิตร ชัยบัญชา | เนตร์นภา ดารารัตน์ |
ละครช่อง 5 พ.ศ. 2516 | สหัสษา ศักดิ์ภูวดล | ชนะ ศรีอุบล | เสาวภาคย์ อนันตศัพท์ |
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2523 | สุพรรษา เนื่องภิรมย์ | นิรุตติ์ ศิริจรรยา | วิยะดา อุมารินทร์ |
ละครช่อง 3 พ.ศ. 2534 | ปาหนัน ณ พัทลุง | รอน บรรจงสร้าง | มณีนุช เสมรสุต |
ละครช่อง 7 พ.ศ. 2539 | กมลชนก โกมลฐิติ | นุติ เขมะโยธิน | เปียเช่อร์ คริสเตนเซ่น |
- บทละครร้องเรื่อง สาวเครือฟ้า ดัดแปลงมาจากอุปรากร เรื่อง มาดามบัตเตอร์ฟลาย ของ จาโกโม ปุชชีนี ซึ่งได้ต้นเค้ามาจากนวนิยายของ จอห์น ลูเธอร์ ลอง อีกต่อหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2450 ทอดพระเนตรอุปรากรเรื่องนี้ เมื่อเสด็จนิวัติพระนคร ได้ทรงเล่าให้กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ฟัง กรมพระนราธิปฯ ทรงดัดแปลงเป็นบทละครร้องแสดงถวายหน้าพระที่นั่ง โดยเปลี่ยนสถานที่จากญี่ปุ่น เป็น เชียงใหม่ เปลี่ยนบทนางเอกจากสาวญี่ปุ่น โจโจซัง เป็น เครือฟ้า เปลี่ยนบทพระเอกจากนายทหารเรืออเมริกัน นายเรือเอกพิงเคอร์ตัน เป็น ร้อยตรีพร้อม
- ภาพยนตร์สาวเครือฟ้าฉบับนี้เป็นการสร้างครั้งที่สอง โดยก่อนหน้านั้นถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2477 เป็นภาพยนตร์ขาวดำ 35 มม. สร้างโดย บูรพาภาพยนตร์ สร้างดนตรีประกอบโดย พรานบูรพ์ (จวงจันทร์ จันทร์คณา)
- สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ครูมารุตได้ยกกองถ่ายทำในจังหวัดเชียงใหม่ตลอดเรื่อง อยู่หลายเดือนในปี พ.ศ. 2495 สมัยนั้นทีมงานทั้งหมดเดินทางโดยรถไฟขึ้นลงอยู่เป็นเดือนๆ เรื่องนี้เน้นศิลปะวัฒนะธรรมชาวเหนือพร้อมขนบธรรมเนียมประเพณี จะเห็นนั่งสามล้อ ซึ่งเป็นที่นิยม และการแต่งกายแบบชาวเหนือของสาวสวยเชียงใหม่มีเอกลักษณ์ และได้ไปถ่ายฉากฟ้อนในคุ้มเจ้าหลวงและยังมีฉากเล่นน้ำสงกรานต์ด้วย สาวๆสมัยนั้นนิยมถือร่มแบบพื้นเมืองคือร่มทางเหนือของบ้านบ่อสร้าง
- ภาพยนตร์เรื่องสาวเครือฟ้าเข้าฉายตามประวัติที่มีบันทึกไว้ดังนี้ ประเดิมฉายครั้งแรกวันที่ 16 มกราคม 2496 ที่โรงภาพยนตร์นิวโอเดียน กรุงเทพฯ, ภาคเหนือ สาวเครือฟ้าเข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ควีนส์ที่จังหวัดเชียงใหม่ เข้าฉายเดือนกุมภาพันธ์ 2496 และภาคใต้ เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ทับเที่ยงภาพยนตร์ จังหวัดตรัง ตรงกับเดือนมีนาคม 2496
- ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างชื่อเสียงให้กับ วิไลวรรณ วัฒนพานิช จนได้รับฉายาว่า "นางเอกเจ้าน้ำตา" และเป็นนักแสดงนำหญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ในการประกวดภาพยนตร์ชิงรางวัลตุ๊กตาทอง และสำเภาทอง ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2500
- ภาพยนตร์สาวเครือฟ้ามีการสร้างภาคต่ออีกหลายภาค เช่น ลูกเครือฟ้า (2498) และ ปีศาจเครือฟ้า (2503) รวมถึงมีการนำภาพยนตร์สาวเครือฟ้ากลับมาฉายอีกครั้งในปี 2500
- ครูมารุตได้นำภาพยนตร์เรื่องนี้มาสร้างใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2508 และในปี พ.ศ. 2523 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ทรงนำภาพยนตร์สาวเครือฟ้ากลับมาสร้างอีกครั้ง ใช้ชื่อเรื่องว่า เครือฟ้า (2523)
รางวัล
- รางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2500
- นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (วิไลวรรณ วัฒนพานิช)