- ชื่ออังกฤษ : Madame Butterfly
- ประเภท : Drama / ขาว-ดำ
- ผู้กำกับ :
- พระนิพนธ์ : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
- บทภาพยนตร์ :
- ผู้ถ่ายภาพ : เนียรศิลป
- ดนตรีประกอบ : พรานบูรพ์ (จวงจันทร์ จันทร์คณา)
- อำนวยการสร้าง : สดศรี ภักดีจิตต์ (สดศรี ภักดีวิจิตร)
- บริษัทผู้สร้าง : บูรพาภาพยนตร์
- วันที่เข้าฉาย : 26 พฤษภาคม 2477 ฉายที่โรงภาพยนตร์วัฒนากร-แก๊ปปิตอล
- ระบบถ่ายทำ : ภาพยนตร์ขาว-ดำ 35 มม. ให้เสียงพากย์สด
เรื่องย่อ[]
โศกนาฏกรรมความรักระหว่างทหารหนุ่มกับสาวชาวเหนือ ร้อยตรีพร้อม ทหารหนุ่มชาวใต้ย้ายมารับราชการที่เชียงใหม่ เกิดรักใคร่กับเครือฟ้า หญิงช่างฟ้อนชาวเชียงใหม่ ลูกของคนเลี้ยงช้าง แล้วก็ได้ผูกสมัครรักใคร่กันขึ้น เพราะร้อยตรีพร้อมชอบให้เครือฟ้าพาไปเที่ยวป่า ทั้งคู่อยู่กินฉันท์สามีภรรยากันชั่วระยะสั้นๆ จนให้กำเนิดบุตรชื่อ แดง แต่ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ไทยเข้าร่วมรบกับฝ่ายพันธมิตรและมีการระดมทหารอาสาไปรบที่ยุโรป ข่าวมาถึงเชียงใหม่ ร้อยตรีพร้อมได้รับคำสั่งให้ย้ายกลับกรุงเทพฯ จึงอาสาไปร่วมรบก่อนจากได้ร่ำลากันด้วยความรักและอาลัย ร้อยตรีพร้อมสัญญาว่าจะกลับมาหาเครือฟ้าในเร็ววัน แต่ทว่าเขากลับประสบเคราะห์กรรมเครื่องบินตกได้รับบาดเจ็บ
ร้อยตรีพร้อมกลับมาถึงเมืองไทยในสภาพความจำเสื่อมและได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็น นายพลตรีหลวงณรงค์รักษ์ศักดิ์สงคราม จึงถูกญาติบังคับให้แต่งงานกับจำปา ลูกผู้ดีมีสกุล จนถึงวันที่หลวงณรงค์รักษ์ต้องเอาเครื่องบินไปแสดงบินที่เชียงใหม่ ก็เกิดคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเคยมาอยู่ที่นี่ เครือฟ้าได้ข่าวว่าสามีเดินทางมาเชียงใหม่ ก็ไปคอยต้อนรับด้วยความดีใจแต่กลับต้องพบความชอกช้ำเมื่อเห็นร้อยตรีพร้อมพาจำปา ภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายมาด้วย ซ้ำร้ายยังถูกจำปาดูหมิ่นดูแคลน เครือฟ้าเสียใจมาก จึงใช้มีดแทงตัวตายด้วยหัวใจที่แตกสลาย
นักแสดง[]
นักแสดง | รับบทเป็น |
---|---|
ชื่นจิตต์ แสงวรรณเทศ | เครือฟ้า |
ละม้าย สุวรรณพานิช | จำปา |
อุดม วรมิตร | ร.ต. พร้อม |
ม.ล. แจ่มจำรัส | พระรอง |
Image Gallery & วีดีโอ[]
เกร็ด[]
- ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากบทละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้า ซึ่งภาพยนตร์สาวเครือฟ้าฉบับนี้ถือเป็นสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งแรก
- ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากบทละครร้องเรื่อง สาวเครือฟ้า พระนิพนธ์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ โดยใช้นามแฝงว่า ประเสริฐอักษร ซึ่งเคยจัดแสดงที่โรงละครปรีดาลัย มีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์อีกหลายต่อหลายครั้ง ดังนี้
รูปแบบการนำเสนอ | เครือฟ้า | ร้อยตรีพร้อม | จำปา |
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2477 | ชื่นจิตต์ แสงวรรณเทศ | อุดม วรมิตร | ละม้าย สุวรรณพานิช |
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2496 | วิไลวรรณ วัฒนพานิช | ชลิต สุเสวี | สุจิตรา ทิพยทัศน์ |
ละครช่อง 4 พ.ศ. 2506 | สว่างจิตร กาญจนเสถียร | นฤพนธ์ ดุริยพันธุ์ | |
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2508 | พิศมัย วิไลศักดิ์ | มิตร ชัยบัญชา | เนตร์นภา ดารารัตน์ |
ละครช่อง 5 พ.ศ. 2516 | สหัสษา ศักดิ์ภูวดล | ชนะ ศรีอุบล | เสาวภาคย์ อนันตศัพท์ |
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2523 | สุพรรษา เนื่องภิรมย์ | นิรุตติ์ ศิริจรรยา | วิยะดา อุมารินทร์ |
ละครช่อง 3 พ.ศ. 2534 | ปาหนัน ณ พัทลุง | รอน บรรจงสร้าง | มณีนุช เสมรสุต |
ละครช่อง 7 พ.ศ. 2539 | กมลชนก โกมลฐิติ | นุติ เขมะโยธิน | เปียเช่อร์ คริสเตนเซ่น |
- บทละครร้องเรื่อง สาวเครือฟ้า ดัดแปลงมาจากอุปรากร เรื่อง มาดามบัตเตอร์ฟลาย ของ จาโกโม ปุชชีนี ซึ่งได้ต้นเค้ามาจากนวนิยายของ จอห์น ลูเธอร์ ลอง อีกต่อหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2450 ทอดพระเนตรอุปรากรเรื่องนี้ เมื่อเสด็จนิวัติพระนคร ได้ทรงเล่าให้กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ฟัง กรมพระนราธิปฯ ทรงดัดแปลงเป็นบทละครร้องแสดงถวายหน้าพระที่นั่ง โดยเปลี่ยนสถานที่จากญี่ปุ่น เป็น เชียงใหม่ เปลี่ยนบทนางเอกจากสาวญี่ปุ่น โจโจซัง เป็น เครือฟ้า เปลี่ยนบทพระเอกจากนายทหารเรืออเมริกัน นายเรือเอกพิงเคอร์ตัน เป็น ร้อยตรีพร้อม
- ภาพยนตร์สาวเครือฟ้าฉบับนี้เป็นการสร้างครั้งแรก อำนวยการสร้างโดย สดศรี ภักดีจิตต์ (สดศรี ภักดีวิจิตร) สร้างดนตรีประกอบโดย พรานบูรพ์ (จวงจันทร์ จันทร์คณา) และถ่ายภาพโดย เนียรศิลป ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความยาวจำนวน 9 ม้วน
- ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ไทยแบบพากย์เรื่องแรกๆ โดยไม่ต้องลงทุนมากมายวิธีดังกล่าวคือ ลงมือถ่ายทำโดยไม่บันทึกเสียงเช่นเดียวกับภาพยนตร์เงียบ หลังจากนั้นจึงเชิญนักพากย์ฝีมือดีมาบรรเลงเพลงพากย์ในภายหลัง ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ชมอย่างดียิ่ง จึงทำให้เกิดผู้สร้างรายเล็กรายใหญ่ตามมาหลายราย
- ผู้ที่เริ่มบุกเบิกวิธีดังกล่าว คือ บริษัทสร้างภาพยนตร์ 2 ราย ได้แก่ บริษัทบูรพาภาพยนตร์ และบริษัทหัสดินทร์ภาพยนตร์ กลายเป็นบริษัทสร้างภาพยนตร์ไทยพากย์ที่มีบทบาทอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งยังถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 มม.เป็นหลัก
- ภาพยนตร์สาวเครือฟ้าได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อีก 3 ครั้ง โดยครูมารุตได้นำมาสร้างในปี พ.ศ. 2496, พ.ศ. 2508 และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ทรงนำเรื่องนี้กลับมาสร้างอีกครั้ง โดยใช้ชื่อเรื่องว่า เครือฟ้า (2523)