- ประเภท : Comedy / Romance / Drama / Musical
- ผู้กำกับ : รังสี ทัศนพยัคฆ์
- บทประพันธ์ : มหศักดิ์ สารากร (รังสี ทัศนพยัคฆ์)
- บทภาพยนตร์ : มหศักดิ์ สารากร (รังสี ทัศนพยัคฆ์)
- ผู้กำกับบท : นันทวัติ
- ผู้ถ่ายภาพ : ธีระ แอคะรัตน์
- ผู้ลำดับภาพ : พรรณรังษี
- อำนวยการสร้าง : รังสี ทัศนพยัคฆ์
- บริษัทผู้สร้าง : รุ่งสุริยาภาพยนตร์
- จัดจำหน่าย : เสรีภาพยนตร์ (โดย ปราโมทย์ เสรีเชษฐพงษ์)
- วันที่เข้าฉาย : 15 พฤษภาคม 2513 ฉายที่โรงภาพยนตร์โคลีเซียม
- ระบบถ่ายทำ : ภาพยนตร์สีอิสต์แมน 35 มม.เดอลุกซ์สโคป พากย์เสียงในฟิล์ม
เรื่องย่อ[]
- จากไอดินกลิ่นฟาง เคล้ากลิ่นแก้มสาว ระคนด้วยมนต์เพลง ความรัก ความสำราญ จากกลุ่มหนุ่มสาวชาวลูกทุ่ง
- ฟัง 14 เพลงเอกจากยอดขุนพล นักประพันธ์เพลงลูกทุ่ง ในระบบ 35 ม.ม.เดอลุกซ์สโคป เสียง-สีอิสต์แมน
ตำนานความรักของคล้าว (มิตร ชัยบัญชา) ที่รักอยู่กับทองกวาว (เพชรา เชาวราษฎร์) แต่พ่อกับแม่ทองกวาวไม่ชอบเพราะความที่คล้าวจนและโดนยึดที่นาเพราะเป็นหนี้กับพ่อจอม ทองก้อน และ ทับทิม เพราะความยากจนของคล้าวที่เป็นเพียงชาวนาทำให้ผู้ใหญ่ก้อนพ่อของทองกวาวพยายามกีดกัน ทองกวาวจึงเอาเงินที่มีอยู่มาให้คล้าวใช้หนี้ จอมโกรธที่ยึดที่นาของคล้าวไม่ได้ จึงไปต่อว่า ทองก้อน พ่อและแม่ของทองกวาว จึงส่งทองกวาวไปอยู่กับป้าทองคำที่กรุงเทพ โดยให้มีบุปผา (บุปผา สายชล) และหมึก ไปดูแล
ทองกวาวได้รู้จักกับธรรมรักษ์ หลานของป้าทองคำ ซึ่งป้าทองคำหวังจะให้หลานทั้งคู่แต่งงานกัน เพื่อสมบัติจะได้ไม่ตกเป็นของคนอื่น คล้าวเศร้าโศกเสียใจที่น้ำท่วมทุ่งนาข้าวเสียหาย ได้พวกคอยปลอบ จึงบอกบุญเย็น (ไพรวัลย์ ลูกเพชร) ให้ตามหาทองกวาว บุญเย็นพบทองกวาวที่กรุงเทพและบอกเรื่องคล้าว ทองกวาวขอให้บุญเย็นบอกคล้าวว่าทองกวาวอยากให้คล้าวมาสู่ขอแต่พ่อแม่ของทองกวาวกลับเรียกค่าสินสอดสิบหมื่น
ธรรมรักษ์เสียการพนัน หวังจะหลอกเอาเงินป้าทองคำจึงทำเป็นชอบทองกวาว โดยให้เพื่อนชื่อ ธีระ หัวหน้าวงดนตรีมากันบุปผา ทั้งหมดเดินทางมาบ้านทองกวาว แต่ด้วยความคิดถึงทองกวาวรีบมาหาคล้าวกลับพบว่าคล้าวอยู่กับสายใจ ทำให้ทองกวาวเข้าใจผิด ทองกวาวจึงตกลงหมั้นกับธรรมรักษ์ แต่ธรรมรักษ์มีฤทัยเป็นภรรยาอยู่ บุญเย็นจึงพาฤทัยมาบ้านทองกวาว ธรรมรักษ์โกรธมาก บอกฤทัยเป็นนักร้องในวงธีระ ฤทัยแกล้งตีสนิทกับคล้าวเพื่อให้ธรรมรักษ์หึง แล้วป้าทองคำจึงไล่ธรรมรักษ์และเมียกลับไป
แต่ข่าวการหมั้นของทองกวาวกับธรรมรักษ์ที่ทองก้อนประกาศไปเข้าหูเสือทุม ได้จับตัวทองกวาวและป้าทองคำไปเรียกค่าไถ่ คล้าวและตำรวจตามไปช่วยไว้ทัน คล้าวกับพรรคพวกได้ช่วยเหลือทองกวาวและป้าทองคำให้พ้นจากคนร้าย ซึ่งทำให้พ่อทองก้อนและแม่ทับทิมไม่กล้าปฏิเสธ ทั้งคู่จึงได้แต่งงานกัน
นักแสดง[]
- มิตร ชัยบัญชา – ไอ้คล้าว
- เพชรา เชาวราษฎร์ – ทองกวาว
- มิส อันฮวา – ฤทัย
- บรรจบ เจริญพร – เชน เมืองอุบล
- ศรีไพร ใจพระ – ไอ้แว่น
- บุปผา สายชล – บุปผา
- ไพรวัลย์ ลูกเพชร – บุญเย็น
- ประจวบ ฤกษ์ยามดี – หมู่น้อย
- ชุมพร เทพพิทักษ์ – ธรรมรัตน์
- ฤทธี นฤบาล – ธีระ
- แมน ธีระพล – เจิด
- สุมาลี ทองหล่อ – สายใจ
- น้ำเพ็ญ จิระจันทร์ – ดวงใจ
- มาลี เวชประเสริฐ – คุณนายทองคำ
- มนัส บุญเกียรติ – ทับทิม
- สุวิน สว่างรัตน์ – จอม
- สมจิตต์ ทรัพย์สำรวย – แม่คอน
- สมควร กระจ่างศาสตร์ – ทองก้อน
- เชาว์ แคล่วคล่อง – มิ่ง
- อดินันท์ สิงห์หิรัญ – หมึก
- เทียว ธารา – เสือทุม
- ณรงค์ นกแสง
- สุคนธ์ คิ้วเหลี่ยม – ม้วน
- ประสาร ปัทมเวณุ
- ผาสุข คงสถิตย์
- ล้อต๊อก – ลุงชื่น
Image Gallery & วีดีโอ[]
เกร็ด[]
- ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากบทประพันธ์เรื่อง "มนต์รักลูกทุ่ง" ของ รังสี ทัศนพยัคฆ์ โดยใช้นามแฝงว่า "มหศักดิ์ สารากร" โดย มิตร ชัยบัญชา มีส่วนร่วมในเนื้อเรื่องด้วย เป็นภาพยนตร์เพลงแบบไทยๆ ที่เป็นผลงานความสำเร็จสูงสุดของวงการเพลงลูกทุ่งไทย และภาพยนตร์ไทยยุค มิตร ชัยบัญชา กับเพชรา เชาวราษฎร์ ผสมผสานกันระหว่างลูกทุ่งฮิตกับภาพยนตร์ไทยฮิต กลายเป็นภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายโรงเดียวต่อเนื่องกันยาวนานกว่าหกเดือนในกรุงเทพ
- ก่อนหน้านี้ครูรังสีได้สร้างและกำกับภาพยนตร์เพลงลูกทุ่งเรื่อง ชาติลำชี (2512) โดยได้นำนักร้องลูกทุ่งมาร่วมแสดงมากมายหลายคน ส่งผลให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงทำให้ครูรังสีตัดสินใจสร้างมนต์รักลูกทุ่งในปีต่อมา พร้อมเพิ่มจำนวนนักร้องลูกทุ่งและเพิ่มเพลงให้มากกว่าภาพยนตร์ชาติลำชี
- ส่วนชื่อเรื่องภาพยนตร์เรื่องนี้ ครูรังสีต้องการสร้างภาพยนตร์ชื่อขึ้นต้นด้วย "มนต์รัก" ซึ่งเก็บไว้ในใจมาจากการที่เคยกำกับภาพยนตร์ให้กับชรินทร์ นันทนาคร เรื่อง แมวไทย (2511) ที่มีเพลงประกอบชื่อเพลง มนต์รักดอกคำใต้ ครูรังสีจึงเอา มนต์รักกับลูกทุ่งมารวมกันจนกลายเป็นชื่อภาพยนตร์
- ภาพยนตร์มนต์รักลูกทุ่งมีคู่พระ-นาง คือไอ้คล้าว กับ ทองกวาว รับบทโดย มิตร ชัยบัญชา กับเพชรา เชาวราษฎร์ ส่วนคู่รอง คือแว่น กับบุปผา รับบทโดย ศรีไพร ใจพระ กับบุปผา สายชล
- ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเพลงลูกทุ่งประกอบในภาพยนตร์จำนวน 14 เพลง ซึ่งเพลงในภาพยนตร์นี้สร้างชื่อเสียงให้นักร้องลูกทุ่งยอดนิยมที่ร่วมแสดงในครั้งนั้นด้วย 14 เพลงจากภาพยนตร์ มีดังนี้
ลำดับ | ชื่อเพลง | แต่งโดย | ขับร้องโดย |
---|---|---|---|
1 | มนต์รักลูกทุ่ง | ไพบูลย์ บุตรขัน | ไพรวัลย์ ลูกเพชร |
2 | สาวนาคอยคู่ | สุรินทร์ ภาคสิริ | บุปผา สายชล |
3 | อาลัย | ประดิษฐ์ อุตตะมัง | ไพรวัลย์ ลูกเพชร |
4 | หนุ่มพเนจร | สุรินทร์ ภาคสิริ | บรรจบ เจริญพร |
5 | สิบหมื่น | สุริยา รุ่งตะวัน (รังสี ทัศนพยัคฆ์) | เสน่ห์ เพชรบูรณ์ |
6 | น้ำลงนกร้อง | ไพบูลย์ บุตรขัน | พรไพร เพชรดำเนิน |
7 | นกร้องน้องช้ำ | ไพบูลย์ บุตรขัน | บุปผา สายชล |
8 | น้อยใจรัก | ประดิษฐ์ อุตตะมัง | ผ่องศรี วรนุช |
9 | แม่ร้อยใจ | สมาน เมืองราช | เสน่ห์ เพชรบูรณ์ |
10 | น้ำตา น้ำตก | ธนันชัย โชคชัย | บุปผา สายชล |
11 | ใจเจ้าชู้ | ประดิษฐ์ อุตตะมัง | บรรจบ เจริญพร |
12 | รูปหล่อถมไป | ไพบูลย์ บุตรขัน | บุปผา สายชล |
13 | รักร้าวหนาวลม | พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา | บรรจบ เจริญพร |
14 | รักลาอย่าเศร้า | พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา | ผ่องศรี วรนุช |
- เพลงสิบหมื่น และแม่ร้อยใจ ที่ไอ้คล้าว (รับบทโดย มิตร ชัยบัญชา) ขับร้องในภาพยนตร์นั้น เป็นเสียงร้องของ เสน่ห์ เพชรบูรณ์ ลูกศิษย์ของศรีไพร ใจพระ แต่ในแผ่นเสียงใช้ชื่อมิตร ชัยบัญชา ร้องเอง
- ภาพยนตร์ออกฉายเมื่อวันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 ทำรายได้ถล่มทลายจากทั่วประเทศถึง 13 ล้านบาทและฉายติดต่อกันนาน 6 เดือน ที่โรงภาพยนตร์โคลีเซียม จนถึงวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2513 ทำรายได้กว่า 7 ล้านบาทในครั้งนั้น และได้กลับมาฉายอีกครั้งในปี พ.ศ. 2515
- จากเนื้อหาสนุกสนานและมีกลิ่นอายของลูกทุ่งในภาพยนตร์ เปิดทางเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวงการภาพยนตร์ไทยจากระบบฟิล์ม 16 ม.ม. พากย์สด มาเป็นระบบฟิล์ม 35 ม.ม. พากย์เสียงในฟิล์ม ซึ่งในปีเดียวกันนี้เอง มีภาพยนตร์อีกเรื่องที่สร้างในระบบ 35 ม.ม.และทำรายได้ดีเช่นกันคือภาพยนตร์ โทน (2513) กำกับโดย เปี๊ยก โปสเตอร์
- ครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ ได้เก็บฟิล์มไว้เป็นสมบัติส่วนตัวในรูปแบบ 16 ม.ม. เสียงในฟิล์ม หลังจากที่พบกับความผิดหวัง เมื่อฟิล์มต้นฉบับเนกาตีฟของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถูกเผาทำลายที่แมนดาริน แล็บ ประเทศฮ่องกง ก่อนหน้าที่เขาจะเดินทางไปถึง
- มนต์รักลูกทุ่งได้กลับมาฉายใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2534 ฉายที่โรงภาพยนตร์แอมบาสเดอร์ โดย กมล กุลตังวัฒนา ตัดสินใจขอนำฟิล์มชุดสุดท้ายที่เหลืออยู่นี้กลับมาบูรณะซ่อมแซมใหม่ โดยได้นำมาขยายเป็นฟิล์ม 35 ม.ม. พร้อมกับบันทึกเสียงพากย์ ดนตรีประกอบ เอฟเฟคขึ้นมาใหม่ทั้งหมด พร้อมทั้งเพลงประกอบ
- หลังจากปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา เมื่อถึงวันงานรำลึก มิตร ชัยบัญชา ก็มักจะมีเสียงร้องให้นำกลับมาฉายอีก บางปีก็ฉายได้บางปีก็ฉายไม่ได้เพราะสภาพฟิล์มที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เริ่มบอบช้ำอีกแล้ว แต่โครงการคิดถึงหนังไทยของพันธมิตรฟิล์มสามารถเจรจาขออนุญาตจากครูรังสีในการนำกลับมาทำเป็น VCD ได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2544 จึงได้นำฟิล์มเนกาตีฟที่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ในปี 2535 ไปเข้าเครื่องเทเลซีนที่บริษัท SOHO ASIA จำกัด เพื่อเปลี่ยนสภาพเป็นเทปมาสเตอร์ซึ่งในการเทเลซีนครั้งนั้น พันธมิตรฟิล์มจึงเรียนเชิญครูรังสีซึ่งตอนนั้นไปพักอยู่จังหวัดจันทบุรีมาดูการเทเลซีนหนังและสั่งการด้วยตนเอง ภาพใน VCD ที่ออกมาถือว่าดีที่สุดแล้วเพราะได้ใช้เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ช่วยในการตัดสีแดงออกไปและเพิ่มสีสันเข้าไป
- รังสี ทัศนพยัคฆ์ ได้นำมนต์รักลูกทุ่งกลับมาสร้างใหม่ ออกฉายปี พ.ศ. 2525 สร้างโดย พูนทรัพย์โปรดักชั่น โดยมี วิศิษฐ์ มิ่งวัฒนบุญ เป็นผู้อำนวยการสร้าง และในปี พ.ศ. 2548 ประสิทธิ์ วิจิตร์จินดา นำสร้างเป็นภาพยนตร์อีกครั้ง แต่ภาพยนตร์มนต์รักลูกทุ่งทั้งสองก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
- ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการนำกลับมาทำใหม่ในลักษณะละครโทรทัศน์ ในปี พ.ศ. 2538 ทางช่อง 7 สี โดย ดาราวิดีโอ ซึ่งมียอดผู้ชมมากมาย และเพลงประกอบละครก็ขายกันระเบิดเถิดเทิง ต่อมาดาราวิดีโอได้นำกลับมาสร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. 2548 และทางไทยทีวีสีช่อง 3 ได้มีการนำกลับมาสร้างใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2553-54 โดยเพิ่มตัวละครใหม่ "เพชร"
- ในปี พ.ศ. 2558 ปริภัณฑ์ วัชรานนท์ และสหมงคลฟิล์ม นำบทประพันธ์มนต์รักลูกทุ่งนำมาปัดฝุ่นสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อ มนต์เลิฟสิบหมื่น (2558)
รูปแบบการนำเสนอ | ไอ้คล้าว | ทองกวาว | ไอ้แว่น / ไพร | บุปผา |
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2513 | มิตร ชัยบัญชา | เพชรา เชาวราษฎร์ | ศรีไพร ใจพระ | บุปผา สายชล |
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2525 | ทูน หิรัญทรัพย์ | หทัยรัตน์ อมตะวณิชย์ | สายัณห์ จันทรวิบูลย์ | อำภา ภูษิต |
ละครช่อง 7 พ.ศ. 2538 | ศรัณยู วงษ์กระจ่าง | ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์ | อนันต์ บุนนาค | รัชนีกร พันธุ์มณี |
ละครช่อง 7 พ.ศ. 2548 | ณัฐวุฒิ สะกิดใจ | สุวนันท์ คงยิ่ง | ภาณุ สุวรรณโณ | จีรนันท์ มะโนแจ่ม |
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2548 | นันทวัฒน์ อาศิรพจนกุล | ลักขณา วัธนวงส์ศิริ | ยิ่งยง ยอดบัวงาม | อาภาพร นครสวรรค์ |
ละครช่อง 3 พ.ศ. 2553 | ทฤษฎี สหวงษ์ | จิตตาภา แจ่มปฐม | เบญจพล เชยอรุณ | ณัฏฐพัชร วิพัธครตระกูล |
มนต์เลิฟสิบหมื่น (2558) | ชัยพล พูพาร์ต | เฌอมาวีร์ สุวรรณภาณุโชค | แจ๊ส ชวนชื่น | ชญาภา พงศ์สุภาชาคริต |
ละครเวที พ.ศ. 2566 | กิตติธัช แก้วอุทัย | เปาวลี พรพิมล | วงศธร สมศรี | เขมจิรา วงษ์ทอง |
ละครช่อง 3 HD พ.ศ. 2567 | ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์ | ชาล็อต ออสติน | วโรดม เข็มมณฑา | กิ่งกาญจน์ ส่องสว่าง |
- อนึ่ง รังสี ทัศนพยัคฆ์ เคยสร้างภาคต่อของมนต์รักลูกทุ่งมาแล้ว ในชื่อ จะกู่รัก..กอดน้องให้ก้องโลก (2535) โดยเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นอีก 20 ปีให้หลัง โดยใช้เพลงลูกทุ่งยอดฮิตเป็นส่วนสร้างอารมณ์เหมือนในมนต์รักลูกทุ่ง กำกับภาพยนตร์โดย สุวิทย์ ชุติพงษ์ และสร้างบทภาพยนตร์โดย รังสี ทัศนพยัคฆ์
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู โดยหอภาพยนตร์แห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2548
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคัดเลือกให้เป็นภาพยนตร์ไทย 1 ในจำนวน 25 เรื่องที่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ โดยหอภาพยนตร์แห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2554
อนุสรณ์[]
- โครงการของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
- 100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู ประเภทภาพยนตร์ดำเนินเรื่อง (พ.ศ. 2548)
- มรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2554)
- 70 สุดยอดภาพยนตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2561) จัดโดย คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ