- ประเภท : Action / Crime / Drama
- ผู้กำกับ : เนรมิต (อำนวย กลัสนิมิ)
- บทประพันธ์ : เนรมิต (อำนวย กลัสนิมิ)
- บทภาพยนตร์ : เนรมิต (อำนวย กลัสนิมิ)
- ผู้ถ่ายภาพ : เปี่ยม ทองปรีชา
- ผู้ตัดต่อ : เนรมิต (อำนวย กลัสนิมิ)
- อำนวยการสร้าง : จันตรี สาริกบุตร
- บริษัทผู้สร้าง : ลูกไทยภาพยนตร์
- วันที่เข้าฉาย : 31 ธันวาคม 2494 ฉายที่ศาลาเฉลิมกรุง
- ระบบถ่ายทำ : ภาพยนตร์สีวิจิตร 16 มม. ให้เสียงพากย์สด
เรื่องย่อ[]
ตลอดหนึ่งปีที่รับโทษในคุก ชอบ และ ใหญ่ ตั้งใจจะกลับตัวเป็นคนดีเพื่อครอบครัวหลังจากพ้นโทษผิดกับ ยิ่ง ที่ขอไปเป็นโจรเหมือนเดิม ทั้งสามแยกย้ายกันไปคนละทาง ชอบกลับไปพบว่าสถานะทางครอบครัวเริ่มขัดสนด้วยเหตุที่แม่ล้มป่วยลง อีกทั้ง ชัย น้องชายก็เป็นนักเขียนบทละครที่ขายไม่ออก ส่วน ชัชศรี น้องสาวซึ่งทำงานในบาร์ก็กำลังตกเป็นเป้าหมายของ ดำรงฤทธิ์ เจ้าของบาร์
ชอบตระเวนหางานทำแต่ความหวังที่จะได้งานทำก็ดูริบหรี่ลง เขาจึงต้องขายทรัพย์สมบัติอันน้อยนิดที่มีติดตัวเพื่อนำเงินมาประทังชีวิต บังเอิญได้พบใหญ่เกลอเก่าซึ่งตกอยู่ในสภาพไม่ต่างกัน ด้วยความอารี ชอบเจียดเงินให้ใหญ่เป็นทุนทำมาหากิน วันหนึ่ง ยิ่งมาเยี่ยมชอบที่บ้านเพื่อพูดจาหว่านล้อมให้ชอบไปทำงานด้วย ชอบปฏิเสธเสียงแข็งเพราะไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับเรื่องผิดกฎหมายอีก ชัยแอบได้ยินเข้าจึงเสนอตัวทำแทน เพียงเพราะอยากจะหาเงินไปขอ ผาณิต แฟนสาวแต่งงาน
อ่านต่อ (Spoilers) |
---|
ชอบวนเวียนมาพบใหญ่อีกครั้ง ก็ต้องประหลาดใจเป็นอันมากที่เห็นใหญ่ร่ำรวยขึ้นผิดหูผิดตา ผิดจากคราวก่อนใหญ่เฉลยว่า ได้นำเงินที่ชอบให้เอาไปเล่นการพนันทำให้กลายเป็นเศรษฐีในชั่วพริบตา ใหญ่จึงตอบแทนบุญคุณ ด้วยการพาชอบไปฝากฝังให้ทำงานที่คณะละคร และมอบเงินจำนวนหนึ่งให้ เมื่อกลับมาถึงที่บ้าน ชัชศรีกับแม่รีบบอกชอบว่าชัยกำลังจะไปออกปล้นร่วมกับยิ่ง ชอบกับใหญ่จึงรีบไปที่ซ่องสุมของยิ่งเพื่อตามตัวชัยกลับมา แต่ยิ่งไม่ยอมเพราะชัยรู้แผนการปล้นของตัวเองหมดแล้ว ใหญ่อาศัยจังหวะที่ตำรวจบุกเข้ามาชิงตัวชัยกลับมาจนได้ ใหญ่ช่วยเหลือครอบครัวของชอบ ด้วยการเสนองานประพันธ์ของชัยเรื่อง "พี่ชาย" ให้คณะละครนำไปสร้างได้สำเร็จ โดยใช้นามปากกาว่า "เนรมิต" คืนวันปีใหม่ ปี พ.ศ. 2494 อันเป็นวันแรกที่ละครเรื่องพี่ชายจะเริ่มแสดง ทุกคนกำลังตื่นเต้นกับความสำเร็จของชัย โดยไม่รู้ว่าภัยร้ายกำลังคืบคลานเข้ามา ยิ่งซึ่งเข้าใจว่าชอบเป็นคนพาตำรวจมาบุกทลายที่ซ่องสุมของตน จึงมาสังหารแม่ของชอบเป็นการล้างแค้น แล้วตรงไปที่โรงละครหมายจะปลิดชีพสองพี่น้องเป็นรายต่อไป ชอบจำต้องจับปืนอีกครั้งเพื่อปกป้องอนาคตที่กำลังจะสดใสของน้องชาย |
นักแสดง[]
นักแสดง | รับบทเป็น |
---|---|
ส.อาสนจินดา | ชอบ |
สมควร กระจ่างศาสตร์ | ชัย |
ทักษิณ แจ่มผล | ยิ่ง |
จำรูญ หนวดจิ๋ม | ใหญ่ |
หม่อมหลวงรุจิรา อิศรางกูร | |
ทัต เอกทัต | |
มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา | |
สมพงษ์ พงษ์มิตร | |
อธึก อรรถจินดา | |
ทองอ้อน กมเลศร์ | |
รัชนี ไชยเศวต | ผาณิต |
จันตรี สาริกบุตร | |
สงวน รัตนทัศนีย์ |
Image Gallery & วีดีโอ[]
เกร็ด[]
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายครั้งแรกในวันส่งท้ายปี พ.ศ. 2494 เป็นภาพยนตร์แห่งปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงสปิริตของศิลปินยุคละครเวทีสู่ศักราชใหม่ของวงการภาพยนตร์ [1]
- ภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจของนักแสดงละครเวทีในยุครุ่งเรืองของวงการละครเวทีไทย อาทิ ส.อาสนจินดา, สมควร กระจ่างศาสตร์, ทักษิณ แจ่มผล, จำรูญ หนวดจิ๋ม, ทัต เอกทัต, มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา ฯลฯ ที่มารวมตัวกันเพื่อแสดงภาพยนตร์จัดฉายหารายได้ช่วยครอบครัวของ จอก ดอกจันทร์ หัวหน้าคณะลูกไทยที่เสียชีวิตอย่างกะทันหัน ขณะกำลังแสดงละครเวทีที่ศาลาเฉลิมไทย
- ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานการประพันธ์ภาพยนตร์เรื่องแรกของครูเนรมิต (อำนวย กลัสนิมิ) บรมครูคนสำคัญของวงการละครในขณะนั้น โดยได้อุทิศตนทั้งเขียนบท กำกับ และตัดต่อภาพยนตร์เรื่องนี้โดยไม่คิดค่าตอบแทนใดๆทั้งสิ้น
- ก่อนหน้านี้ ครูเนรมิต (อำนวย กลัสนิมิ) เคยกำกับภาพยนตร์มาแล้ว ในภาพยนตร์เรื่อง บ้านไร่นาเรา (2485) สร้างโดยกองภาพยนตร์ทหารอากาศ ตามนโยบายของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปี พ.ศ. 2485
- ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างโดย ลูกไทยภาพยนตร์ โดยมี จันตรี สาริกบุตร เป็นผู้อำนวยการสร้าง ซึ่งเป็นภรรยาของ จอก ดอกจันทร์ และถ่ายภาพโดย เปี่ยม ทองปรีชา
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำที่โรงละครศาลาเฉลิมไทยเพื่อแสดงฉากการแสดงละคร เป็นบทบันทึกถึงยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านของวงการบันเทิงไทย จากยุคทองของละครเวทีที่เคยยิ่งใหญ่เฟื่องฟูมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปสู่ศักราชใหม่ของวงการภาพยนตร์ และเป็นบันทึกของคนละครที่กำลังผันตนเองไปสู่โลกภาพยนตร์ในชีวิตจริง
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำในระบบฟิล์มสีโกดักโครม 16 มม. ปัจจุบันฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้ยังคงสภาพเกือบสมบูรณ์ และได้รับคัดเลือกให้เป็นภาพยนตร์ไทย 1 ในจำนวน 25 เรื่องที่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ โดยหอภาพยนตร์แห่งชาติครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2557
อนุสรณ์[]
- โครงการของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
- มรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 4 (พ.ศ. 2557)