ไทยบันเทิง

🚧 โปรดทราบ เนื่องจากในตอนนี้ฐานข้อมูลของเรายังไม่สมบูรณ์ 😲😲 เนื่องจากระบบวิกิเป็นระบบที่ใหญ่และต้องมีฐานข้อมูลที่ครอบคลุม หากว่าท่านใดมีข้อมูลต้องการที่จะนำมาเผยแพร่ในฐานะมรดกทางภูมิปัญญาให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ ท่านสามารถล็อกอินผ่านบัญชี Facebook ได้โดยกดไปที่ Sign In with Facebook และร่วมพูดคุยกับเราได้ที่นี่ 🙋😉

READ MORE

ไทยบันเทิง
Advertisement
 พันท้ายนรสิงห์ (2493)
พันท้ายนรสิงห์ (2493)

ใบปิดวาดโดย ชวนะ บุญชู

 ประเภท :  Drama / History
 ผู้กำกับ :  มารุต (ทวี ณ บางช้าง)
 พระนิพนธ์ :  พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล
 บทภาพยนตร์ :  ประหยัด ศ.นาคะนาท, อุษณา เพลิงธรรม, ช.แสงเพ็ญ, ถนอม อัครเศรณี
 บริษัทผู้สร้าง :  อัศวินภาพยนตร์
 วันที่เข้าฉาย :  1 เมษายน 2493 ฉายที่ศาลาเฉลิมกรุง
 ภาพยนตร์ที่สร้างจากบทละครเวทีของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล โดยเล่าเรื่องที่แต่งขึ้นจากเรื่องเกร็ดในพงศาวดารและประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลพระเจ้าเสือ กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมื่อเป็นภาพยนตร์ก็ยังคงได้รับความนิยมจากประชาชนผู้ชมทั่วประเทศ นับเป็นภาพยนตร์ที่เป็นประวัติการณ์ และมีอิทธิพลต่ออารมณ์และความเชื่อของผู้คนทั่วไปในสังคมไทย

เรื่องย่อ

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ยุคพระเจ้าเสือ (ถนอม อัครเศรณี) ขุนนางคิดคดทรยศต่อพระเจ้าเสือ นำชื่อของพระองค์ไปแอบอ้างในทางเสียหายทำให้ราษฎรรู้จักพระองค์ในทางเลวร้าย ไม่ว่าในด้านราชการหรือส่วนพระองค์จนราษฎรเกลียดและกลัวไม่กล้าพบพระพักตร์ พระองค์จึงต้องปลอมตัวไปสืบหา ความชั่วของพวกขุนนางที่ทำให้พระองค์ถูกมองไปในทางที่ผิด ทั้งตรวจดูทุกข์สุขของราษฎรด้วยพระองค์ กระทั่งได้พบกับนายสิน (ชูชัย พระขรรค์ชัย) พันท้ายเรือของพระยาพิชัย ขุนนางในราชสำนักและรู้สึกพอพระทัยในความสามารถและความเป็นมิตรของนายสิน ทั้งสองจึงเป็นสหายกัน กระทั่งพระเจ้าเสือทรงเปิดเผยพระองค์และทรงแต่งตั้งให้นายสินเป็นพันท้ายนรสิงห์คุมเรือพระที่นั่ง

วันหนึ่ง พันท้ายนรสิงห์ทราบว่าพระยาพิชัย (ทัต เอกทัต) เจ้านายเก่าคิดจะลอบปลงพระชนม์พระเจ้าเสือขณะเสด็จประพาสต้นทางเรือพระที่นั่ง ครั้นจะทรงความแก่พระเจ้าเสือก็กลัวอันตรายถึงเจ้านายเก่าพันท้ายจึงให้นวล (สุพรรณ บูรณะพิมพ์) ภรรยาไปวิงวอนให้พระยาพิชัยเลิกคิดการเสียเพราะฝ่ายหนึ่งคือเจ้านายเก่า ส่วนอีกฝ่ายก็เป็นเจ้านายใหม่ที่ตนให้ความเคารพทั้งคู่ ฝ่ายนวลเมื่อเดินทางไปถึงก็สามารถวิงวอนพระยาพิชัยสำเร็จ แต่มาเกิดเหตุกลางทางจนไม่สามารถนำความไปบอกสามีได้ทัน ทำให้พันท้ายจำต้องแสร้งบังคับให้หัวเรือชนเข้ากับกิ่งไม้ จนหัวเรือหักเพื่อหยุดการประพาสและทูลขอให้พระเจ้าเสือประหารตนเพื่อรักษาจารีตตามกฎมณเฑียรบาลและเพื่อคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย พระเจ้าเสือแม้จะอภัยโทษให้แต่พันท้ายกลับไม่รับ พระองค์จึงจำพระทัยสั่งตัดศีรษะพันท้ายนรสิงห์ด้วยความขมขื่น

นักแสดง

นักแสดง รับบทเป็น
ชูชัย พระขรรค์ชัย นายสิน / พันท้ายนรสิงห์
สุพรรณ บูรณะพิมพ์ นวล
ถนอม อัครเศรณี พระพุทธเจ้าเสือ
แชน เชิดพงษ์ พระราชสงคราม
อบ บุญติด พระยาราชวังสัน
สิน พระพิจิตร
สมพงษ์ พงษ์มิตร ทองอ่อน
ทัต เอกทัต พระยาพิไชย
อุดม ปิติวรรณ หลวงกำแหง
ทวีสิน ถนอมทัพ ขุนสำแดง
จุมพล ปัทมินทร์ ช่วง
มงคล จันทนบุปผา คง
อดิเรก จันทร์เรือง น้องชายนวล
ชั้น แสงเพ็ญ

Image Gallery

เกร็ด

  • ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากบทละครเวทีของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เป็นผลงานนิพนธ์อิงประวัติศาสตร์ที่แต่งขึ้นจากเรื่องเกร็ดในพงศาวดารและประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
  • เคยถูกสร้างเป็นละครเวทีของคณะศิวารมณ์ ในปี พ.ศ. 2488 นำแสดงโดย สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ เป็น พันท้ายนรสิงห์, สุพรรณ บูรณะพิมพ์ เป็น นวล, จอก ดอกจันทร์ เป็น พระเจ้าเสือ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงสุด
  • แต่หลังจากในยุคที่ละครเวทีเฟื่องฟู พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้ขายกิจการไทยฟิล์มให้กองภาพยนตร์ทหารอากาศ แล้วตั้งคณะละครชื่ออัศวินการละครและเมื่อละครเวทีหมดความนิยม พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลก็หันกลับมาสร้างภาพยนตร์อีกครั้งหนึ่งในนามอัศวินภาพยนตร์ จึงได้ประกาศสร้างพันท้ายนรสิงห์ฉบับภาพยนตร์แบบอลังการงานสร้างในปี พ.ศ. 2491
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของอัศวินภาพยนตร์ และเป็นการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของครูมารุต (ทวี ณ บางช้าง) ผู้กำกับละครเวทีของคณะอัศวินการละครและคณะศิวารมย์
  • ประหยัด ศ.นาคะนาท (นายรำคาญ), ประมูล อุณหธูป (อุษณา เพลิงธรรม) และชั้น แสงเพ็ญ (ช.แสงเพ็ญ) นักเขียนชื่อดังในสมัยนั้นร่วมกันเขียนบทภาพยนตร์ กำกับฝ่ายศิลปะโดยเฉลิม พันธ์ุนิล ประกอบเสียงโดยพิณ พูนพัฒน์ และงานด้านถ่ายภาพเป็นหน้าที่ของรัตน์ เปสตันยี
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำในระบบฟิล์ม 16 มม. โดยใช้เวลาในการสร้างกว่า 2 ปีเนื่องจากผู้กำกับใช้เวลากับการแสดงเป็นส่วนมาก
  • ชูชัย พระขรรค์ชัย นักมวยไทยชื่อดังแห่งเวทีราชดำเนินรับบทเป็นพันท้ายนรสิงห์ แทน สุรสิทธิ์ สัตยวงษ์ ส่วนบทนวลยังเป็นบทบาทของสุพรรณ บูรณะพิมพ์
  • บทพระเจ้าเสือนั่นเดิม จอก ดอกจันทร์เป็นผู้แสดงแต่ได้เสียชีวิตกะทันหัน บทพระเจ้าเสือจึงรับบทโดยถนอม อัครเศรณี เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เจ้าพระยารายสัปดาห์ (นามปากกา "นายกล้าหาญ") ซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนของครูเนรมิต และถนอมยังได้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้อีกคนด้วย
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ยังมีชื่อเสียง คือเพลง น้ำตาแสงไต้ คำร้องโดย มารุต และ เนรมิต และทำนองโดย สง่า อารัมภีร ผู้ทำดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ดัดแปลงจากของเก่า "เขมรกล่อมลูก" ซึ่งเป็นเพลงอมตะเพลงหนึ่งที่มีความไพเราะ ประกอบในฉากพันท้ายนรสิงห์และนวลร่ำลากัน
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2493 ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง เป็นเวลานาน 3 เดือน ทำรายได้ถึง 5 ล้านบาท นับว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงามจากรายได้ที่สูงลิ่วในสมัยนั้น
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกนำกลับมาฉายใหม่อีก 3 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2501, พ.ศ. 2509 และ พ.ศ. 2517
  • โดยฉบับฉายใหม่ในปี พ.ศ. 2517 ได้ขยายฟิล์มเป็น 35 มม. บันทึกเสียงพากย์ลงบนฟิล์ม ได้แต่งเสียงประกอบและดนตรีประกอบลงใหม่ โดยบริษัทสยามพัฒนาฟิล์มของประมวล เจนจรัสสกุล ภายใต้การดูแลของหรุ่น รองรัตน์ เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์
  • ในปี พ.ศ. 2558 ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคัดเลือกเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 5 โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับภาพยนตร์ไทยอีก 24 เรื่อง
  • ภาพยนตร์พันท้ายนรสิงห์ ถูกนำมาสร้างใหม่เป็นภาพยนตร์อีก 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2525 (ในชื่อ พระเจ้าเสือ พันท้ายนรสิงห์) และในปี พ.ศ. 2558 อีกทั้งได้มีการจัดนำเสนอในรูปแบบต่างๆในเวลาต่อมา อาทิ ละครเวที, ละครโทรทัศน์, หุ่นกระบอกไทย และหนังสือการ์ตูน
รูปแบบการนำเสนอ พันท้ายนรสิงห์ พระเจ้าเสือ นวล
ละครเวที พ.ศ. 2488 สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ จอก ดอกจันทร์ สุพรรณ บูรณะพิมพ์
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2493 ชูชัย พระขรรค์ชัย ถนอม อัครเศรณี
ละครเวที พ.ศ. 2508 กำธร สุวรรณปิยะศิริ ฉลอง สิมะเสถียร นงลักษณ์ โรจนพรรณ
ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2515 ถนอม อัครเศรณี
ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2521 นิรุตติ์ ศิริจรรยา ตรัยเทพ เทวะผลิน ดวงใจ หทัยกาญจน์
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2525 สรพงษ์ ชาตรี สมบัติ เมทะนี อาภาพร กรทิพย์
ละครเวที พ.ศ. 2532 ศรัณยู วงษ์กระจ่าง พิศาล อัครเศรณี นาถยา แดงบุหงา
ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2543 ธีรภัทร์ สัจจกุล พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง พิยดา อัครเศรณี
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2558 พงศกร เมตตาริกานนท์ พันเอกวันชนะ สวัสดี พิมดาว พานิชสมัย
ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2559

อนุสรณ์

  • โครงการของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
    • มรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 5 (พ.ศ. 2558)
  • 70 สุดยอดภาพยนตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2561) จัดโดย คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ
Advertisement