- ประเภท : Drama / History
- ผู้กำกับ : มารุต (ทวี ณ บางช้าง)
- พระนิพนธ์ : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล
- บทภาพยนตร์ : ประหยัด ศ.นาคะนาท, อุษณา เพลิงธรรม, ช.แสงเพ็ญ, ถนอม อัครเศรณี
- ผู้ถ่ายภาพ : รัตน์ เปสตันยี A.R.P.S.
- ผู้กำกับฝ่ายศิลปะ : เฉลิม พันธ์ุนิล
- ผู้ประกอบเสียง : พิณ พูนพัฒน์
- ดนตรีประกอบ : สง่า อารัมภีร์
- อำนวยการสร้าง : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล
- บริษัทผู้สร้าง : อัศวินภาพยนตร์
- จัดจำหน่าย : รัตนงามภาพยนตร์
- วันที่เข้าฉาย : 1 เมษายน 2493 ฉายที่ศาลาเฉลิมกรุง
- ระบบถ่ายทำ : ภาพยนตร์สีธรรมชาติ 16 มม. ให้เสียงพากย์สด
เรื่องย่อ
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ฟิล์มต้นฉบับใหม่เอี่ยม
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ยุคพระเจ้าเสือขุนนางคิดคดทรยศต่อพระเจ้าเสือ นำชื่อของพระองค์ไปแอบอ้างในทางเสียหายทำให้ราษฎรรู้จักพระองค์ในทางเลวร้าย ไม่ว่าในด้านราชการหรือส่วนพระองค์ จนราษฎรเกลียดกลัวไม่กล้าพบพระพักตร์ พระองค์จึงต้องปลอมตัวไปสืบหาความชั่วของพวกขุนนางที่ทำให้พระองค์ถูกมองไปในทางที่ผิด ทั้งตรวจดูทุกข์สุขของราษฎรด้วยพระองค์ กระทั่งได้พบกับ นายสิน พันท้ายเรือของ พระยาพิชัย ขุนนางในราชสำนักและรู้สึกพอพระทัยในความสามารถและความเป็นมิตรของนายสิน ทั้งสองจึงเป็นสหายกัน กระทั่งพระเจ้าเสือทรงเปิดเผยพระองค์และทรงแต่งตั้งให้นายสินเป็น พันท้ายนรสิงห์ คุมเรือพระที่นั่ง
วันหนึ่ง พันท้ายนรสิงห์ทราบว่าพระยาพิชัยเจ้านายเก่าคิดจะลอบปลงพระชนม์พระเจ้าเสือขณะเสด็จประพาสต้นทางเรือพระที่นั่ง ครั้นจะทรงความแก่พระเจ้าเสือก็กลัวอันตรายถึงเจ้านายเก่า พันท้ายจึงให้ นวล ภรรยาไปวิงวอนให้พระยาพิชัยเลิกคิดการเสีย เพราะฝ่ายหนึ่งคือเจ้านายเก่า ส่วนอีกฝ่ายก็เป็นเจ้านายใหม่ที่ตนให้ความเคารพทั้งคู่ ฝ่ายนวลเมื่อเดินทางไปถึงก็สามารถวิงวอนพระยาพิชัยสำเร็จ แต่มาเกิดเหตุกลางทางจนไม่สามารถนำความไปบอกสามีได้ทัน ทำให้พันท้ายจำต้องแสร้งบังคับให้หัวเรือชนเข้ากับกิ่งไม้ จนหัวเรือหักเพื่อหยุดการประพาส และทูลขอให้พระเจ้าเสือประหารตนเพื่อรักษาจารีตตามกฎมณเฑียรบาลและเพื่อคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย พระเจ้าเสือแม้จะอภัยโทษให้ แต่พันท้ายกลับไม่รับ พระองค์จึงจำพระทัยสั่งตัดศีรษะพันท้ายนรสิงห์ด้วยความขมขื่น
นักแสดง
นักแสดง | รับบทเป็น |
---|---|
ชูชัย พระขรรค์ชัย | นายสิน / พันท้ายนรสิงห์ |
สุพรรณ บูรณะพิมพ์ | นวล |
ถนอม อัครเศรณี | พระพุทธเจ้าเสือ |
แชน เชิดพงษ์ | พระราชสงคราม |
อบ บุญติด | พระยาราชวังสัน |
สิน | พระพิจิตร |
สมพงษ์ พงษ์มิตร | ทองอ่อน |
ทัต เอกทัต | พระยาพิไชย |
อุดม ปิติวรรณ | หลวงกำแหง |
ทวีสิน ถนอมทัพ | ขุนสำแดง |
จุมพล ปัทมินทร์ | ช่วง |
มงคล จันทนบุปผา | คง |
อดิเรก จันทร์เรือง | น้องชายนวล |
ชั้น แสงเพ็ญ |
Image Gallery & วีดีโอ
เกร็ด
- ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากบทละครเวทีของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เป็นผลงานนิพนธ์อิงประวัติศาสตร์ที่แต่งขึ้นจากเรื่องเกร็ดในพงศาวดารและประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
- เคยถูกสร้างเป็นละครเวทีของคณะศิวารมณ์ ในปี พ.ศ. 2488 นำแสดงโดย สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ เป็น พันท้ายนรสิงห์, จอก ดอกจันทร์ (ศักดิ์ สาริกบุตร) เป็น พระเจ้าเสือ, วรรณดี พุกชาญค้า เป็น นวล ต่อมามีการเปลี่ยนตัวเป็น สุพรรณ บูรณะพิมพ์ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงสุด
- แต่หลังจากในยุคที่ละครเวทีเฟื่องฟู พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้ขายกิจการไทยฟิล์มให้กองภาพยนตร์ทหารอากาศ แล้วตั้งคณะละครชื่ออัศวินการละครและเมื่อละครเวทีหมดความนิยม พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลก็หันกลับมาสร้างภาพยนตร์อีกครั้งหนึ่งในนามอัศวินภาพยนตร์ จึงได้ประกาศสร้างพันท้ายนรสิงห์ฉบับภาพยนตร์แบบอลังการงานสร้างในปี พ.ศ. 2491
- ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของอัศวินภาพยนตร์ และเป็นการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของครูมารุต (ทวี ณ บางช้าง) ผู้กำกับละครเวทีของคณะอัศวินการละครและคณะศิวารมย์
- ประหยัด ศ.นาคะนาท (นายรำคาญ), ประมูล อุณหธูป (อุษณา เพลิงธรรม) และชั้น แสงเพ็ญ (ช.แสงเพ็ญ) นักเขียนชื่อดังในสมัยนั้นร่วมกันเขียนบทภาพยนตร์ กำกับฝ่ายศิลปะโดย เฉลิม พันธ์ุนิล ควบคุมเสียง-ประกอบเสียงโดย พิณ พูนพัฒน์ ดนตรีประกอบโดย สง่า อารัมภีร์ และงานด้านถ่ายภาพเป็นหน้าที่ของ รัตน์ เปสตันยี A.R.P.S.
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำในระบบฟิล์ม 16 มม. โดยใช้เวลาในการสร้างกว่า 2 ปีเนื่องจากผู้กำกับใช้เวลากับการแสดงเป็นส่วนมาก
- ชูชัย พระขรรค์ชัย นักมวยไทยชื่อดังแห่งเวทีราชดำเนินรับบทเป็นพันท้ายนรสิงห์ แทน สุรสิทธิ์ สัตยวงษ์ ส่วนบทนวลยังเป็นบทบาทของ สุพรรณ บูรณะพิมพ์
- บทพระเจ้าเสือนั่นเดิม จอก ดอกจันทร์เป็นผู้แสดงแต่ได้เสียชีวิตกะทันหัน บทพระเจ้าเสือจึงรับบทโดย ถนอม อัครเศรณี เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เจ้าพระยารายสัปดาห์ (นามปากกา "นายกล้าหาญ") ซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนของครูเนรมิต และถนอมยังได้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้อีกคนด้วย
- ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ยังมีชื่อเสียง คือเพลง น้ำตาแสงไต้ คำร้องโดย มารุต และ เนรมิต และทำนองโดย สง่า อารัมภีร ผู้ทำดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ดัดแปลงจากของเก่า "เขมรกล่อมลูก" ซึ่งเป็นเพลงอมตะเพลงหนึ่งที่มีความไพเราะ ประกอบในฉากพันท้ายนรสิงห์และนวลร่ำลากัน
- ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2493 ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง เป็นเวลานาน 3 เดือน ทำรายได้ถึง 5 ล้านบาท นับว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงามจากรายได้ที่สูงลิ่วในสมัยนั้น
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกนำกลับมาฉายใหม่อีก 4 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2494, พ.ศ. 2501, พ.ศ. 2509 และ พ.ศ. 2517
- โดยฉบับฉายใหม่ในปี พ.ศ. 2517 ได้ขยายฟิล์มเป็น 35 มม. บันทึกเสียงพากย์ลงบนฟิล์ม ได้แต่งเสียงประกอบและดนตรีประกอบลงใหม่ โดยบริษัทสยามพัฒนาฟิล์มของ ประมวล เจนจรัสสกุล ภายใต้การดูแลของ หรุ่น รองรัตน์ เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์
- ในปี พ.ศ. 2558 ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคัดเลือกเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 5 โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับภาพยนตร์ไทยอีก 24 เรื่อง
- ภาพยนตร์พันท้ายนรสิงห์ ถูกนำมาสร้างใหม่เป็นภาพยนตร์อีก 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2525 (ในชื่อ พระเจ้าเสือ พันท้ายนรสิงห์) และในปี พ.ศ. 2558 อีกทั้งได้มีการจัดนำเสนอในรูปแบบต่างๆในเวลาต่อมา อาทิ ละครเวที, ละครโทรทัศน์, หุ่นกระบอกไทย และหนังสือการ์ตูน
รูปแบบการนำเสนอ | พันท้ายนรสิงห์ | พระเจ้าเสือ | นวล |
ละครเวที พ.ศ. 2488 | สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ | จอก ดอกจันทร์ | วรรณดี พุกชาญค้า สุพรรณ บูรณะพิมพ์ |
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2493 | ชูชัย พระขรรค์ชัย | ถนอม อัครเศรณี | สุพรรณ บูรณะพิมพ์ |
ละครช่อง 7 พ.ศ. 2503 | สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ | ทัต เอกทัต | สมจิตต์ ทรัพย์สำรวย |
ละครเวที พ.ศ. 2508 | กำธร สุวรรณปิยะศิริ | ฉลอง สิมะเสถียร | นงลักษณ์ โรจนพรรณ |
ละครช่อง 3 พ.ศ. 2515 | ชาติ ชัยยา | ถนอม อัครเศรณี | ขวัญตา บัวเปลี่ยนสี |
ละครช่อง 3 พ.ศ. 2521 | นิรุตติ์ ศิริจรรยา | ตรัยเทพ เทวะผลิน | ดวงใจ หทัยกาญจน์ |
พระเจ้าเสือ พันท้ายนรสิงห์ (2525) | สรพงษ์ ชาตรี | สมบัติ เมทะนี | อาภาพร กรทิพย์ |
ละครเวที พ.ศ. 2532 | ศรัณยู วงษ์กระจ่าง | พิศาล อัครเศรณี | นาถยา แดงบุหงา |
ละครช่อง 7 พ.ศ. 2543 | ธีรภัทร์ สัจจกุล | พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง | พิยดา อัครเศรณี |
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2558 | พงศกร เมตตาริกานนท์ | พันเอกวันชนะ สวัสดี | พิมดาว พานิชสมัย |
อนุสรณ์
- โครงการของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
- มรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 5 (พ.ศ. 2558)
- 70 สุดยอดภาพยนตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2561) จัดโดย คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ