ไทยบันเทิง

🚧 โปรดทราบ เนื่องจากในตอนนี้ฐานข้อมูลของเรายังไม่สมบูรณ์ 😲😲 เนื่องจากระบบวิกิเป็นระบบที่ใหญ่และต้องมีฐานข้อมูลที่ครอบคลุม หากว่าท่านใดมีข้อมูลต้องการที่จะนำมาเผยแพร่ในฐานะมรดกทางภูมิปัญญาให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ ท่านสามารถล็อกอินผ่านบัญชี Facebook ได้โดยกดไปที่ Sign In with Facebook และร่วมพูดคุยกับเราได้ที่นี่ 🙋😉

READ MORE

ไทยบันเทิง
Advertisement
✨🌟  ปุกปุย (2533)
ปุกปุย (2533) 2
  • ประเภท : Drama / Family
  • ผู้กำกับ : อุดม อุดมโรจน์
  • บทภาพยนตร์ : ทองขาว มะขามป้อม, อุดม อุดมโรจน์
  • ผู้กำกับภาพ : ปัญญา นิ่มเจริญพงศ์
  • ผู้ลำดับภาพ : สุนิตย์ อัศวินิกุล
  • ผู้กำกับศิลป์ : ทวีศักดิ์ หิรัญลิขิต
  • ดนตรีประกอบ : จำรัส เศวตาภรณ์
  • อำนวยการสร้าง : จรัญ พูลวรลักษณ์, วิสูตร พูลวรลักษณ์
  • บริษัทผู้สร้าง : ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์
  • วันที่เข้าฉาย : 19 พฤษภาคม 2533
  • ระบบถ่ายทำ : ภาพยนตร์สี เสียงในฟิล์ม 35 มม.

เรื่องย่อ[]

ว่าว (ณพัชร สุพัฒนกุล) เด็กน้อยที่มีพ่อติดการพนันอย่างหนัก เขามักจะถูกพ่อหาว่าเป็นตัวซวยอยู่เสมอ ในขณะที่แม่ (ธิติมา สังขพิทักษ์) เท่านั้นที่เข้าใจในตัวว่าว ว่าวต้องเดินทางไปอาศัยอยู่กับน้าที่ต่างจังหวัด โดยน้าสาว (ญานี จงวิสุทธิ์) ไม่ค่อยชอบว่าวเท่าใดนัก ว่าวมีเพื่อนใหม่ที่ชื่อ ชิชา (ปรางใส ณ นคร) แล้ววันแห่งการจากลาก็มาถึงเมื่อว่าวต้องเดินทางกลับบ้านเก่าอีกครั้งหนึ่ง

เรื่องราวของ เด็กชายเสนา หรือ ว่าว มีพ่อซึ่งถูกผีพนันเข้าสิงมองเขาเป็นตัวซวย ชีวิตในแต่ละวันของว่าวผ่านไปอย่างกระท่อนกระแท่น ทั้งยังต้องเลี้ยงน้องชายวัยกำลังซนแทนแม่ที่หาเลี้ยงครอบครัวด้วยการเย็บผ้า แต่ว่าวก็ยังมีความฝันที่จะเป็นนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ แม้จะเป็นฝันที่ห่างไกลเหลือเกิน สิ่งที่ว่าวพอจะทำได้ในวัยเท่านี้คือไปทำงานเป็นเด็กเชิดสิงโตเก็บเงินซื้อจักรเย็บผ้าคันใหม่ให้แม่ ความสุขเพียงน้อยนิดดับวูบลงไปต่อหน้า เมื่อพ่อเสียพนันจนหมดตัว เจ้าหนี้ทยอยมายกของใช้ในบ้านรวมทั้งจักรเย็บผ้าของแม่ พ่อกล่าวโทษว่าเป็นเพราะว่าว ลูกซึ่งนำความซวยมาให้ และยื่นคำขาดให้แม่ส่งว่าวไปอยู่กับน้าชาย

ว่าวได้พบกับ ชิชา เด็กน้อยผู้น่ารักซึ่งกลายมาเป็นกำลังใจให้ว่าว น้าชายและตาช่วยเติมเต็มสิ่งที่ว่าวขาดหายไป ว่าวเฝ้ารอคอยวันที่แม่จะมาเยี่ยมแต่ก็ไร้วี่แววใด วันหนึ่งครอบครัวของชิชากำลังจะเดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อไปงานรับปริญญา ว่าวจึงได้ติดตามมาด้วย เมื่อพ่อเห็นหน้าว่าว ก็ยื่นคำขาดให้แม่ไล่ว่าวกลับไปอยู่กับน้าอย่างไม่แยแส พร้อมสำทับคำขู่ว่าไม่อย่างนั้นจะออกจากบ้าน แต่คราวนี้แม่ทำใจแข็งเพื่อปกป้องลูกชายทำให้พ่อต้องตัดสินใจออกจากบ้านตามคำประกาศของตัวเอง แต่ก็ต้องไปตกระกำลำบาก จนยอมกลับมาหาครอบครัวอีกครั้งพร้อมกับคำมั่นสัญญาว่าจะปรับปรุงตัวเสียใหม่ จะรักและเข้าใจลูก โดยจะไม่คิดว่าว่าวเป็นตัวนำความโชคร้ายมาสู่ครอบครัวอีก

นักแสดง[]

นักแสดง รับบทเป็น
ณพัชร สุพัฒนกุล ว่าว
ปรางใส ณ นคร ชิชา
ธิติมา สังขพิทักษ์ แม่ว่าว
เกรียงไกร อุณหะนันท์ พ่อว่าว
ญาณี จงวิสุทธิ์ น้าสาว
ศุภชัย ชัยวัฒนเมธิน เจ๋ง
นิรพันธ์ พิศิษฐ์วานิช วุ้น
พลากร สว่างศรี วิว
กอบศักดิ์ ตันติ์ทวิสุทธิ์ ขาวผ่อง
ศุลิน ศรีสุชาติ ประยูร
สมศักดิ์ ชัยสงคราม คุณตา
ตรี บุญทิวาพร น้าชัย

Image Gallery & วีดีโอ[]

เกร็ด[]

  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง My life as a dog อุดม อุดมโรจน์ เขียนเป็นบทภาพยนตร์และให้ชื่อเรื่องในร่างแรกว่า ใคร ๆ ก็ไม่รัก
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายภาพโดย ปัญญา นิ่มเจริญพงษ์ ตัดต่อภาพยนตร์โดย สุนิตย์ อัศวินิกุล เครื่องแต่งกายโดย ปิยะฉัตร สังขโอภาส กำกับศิลป์โดย ทวีศักดิ์ หิรัญลิขิต และดนตรีประกอบภาพยนตร์โดย จำรัส เศวตาภรณ์
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเพลงประกอบ ได้แก่เพลง "อยากถาม" ประพันธ์คำร้อง-ทำนอง-เรียบเรียงโดย จำรัส เศวตาภรณ์ และขับร้องโดย อารีย์พันธ์ วันทอง
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการดัดแปลงนำไปเรียบเรียงเป็นนวนิยายขนาดสั้นเพื่อออกวางจำหน่ายเป็นการโปรโมทละครโทรทัศน์เรื่อง ใครๆก็ไม่รัก (2538) โดยผลงานนวนิยายซึ่งมีการดัดแปลง มาจากบทภาพยนตร์ในเรื่องนี้เป็นการเรียบเรียงโดย ชิชา และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม วางจำหน่ายครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ปิดโปรแกรมการฉายไปด้วยรายได้ทั้งหมด 8 ล้านบาท นอกจากนั้นยังเป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยเข้าร่วมในโครงการสัปดาห์ภาพยนตร์อาเซียนครั้งที่ 3 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และเป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยเข้าร่วมประกวดในงานโตเกียวอินเตอร์เนชันนอลฟิล์มเฟสติวัล 1991 ที่ประเทศญี่ปุ่น

รางวัล และอนุสรณ์[]

  • รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี (ตุ๊กตาทอง) ประจำปี พ.ศ. 2533
    • เพลงประกอบยอดเยี่ยม (จำรัส เศวตาภรณ์)
  • รางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 1
    • นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (ธิติมา สังขพิทักษ์)
    • ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (จำรัส เศวตาภรณ์)
  • สมาคมสื่อมวลชนคาธอลิคแห่งประเทศไทย
    • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสาขาส่งเสริมครอบครัว
  • โครงการของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
    • 100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู ประเภทภาพยนตร์ดำเนินเรื่อง (พ.ศ. 2548)
    • มรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 3 (พ.ศ. 2556)
  • 70 สุดยอดภาพยนตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2561) จัดโดย คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ
Advertisement