- ประเภท : Drama / ขาว-ดำ
- ผู้กำกับ : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล
- บทประพันธ์ : พระยาโกมารกุลมนตรี
- บทภาพยนตร์ :
- ผู้ถ่ายภาพ : ม.ร.ว. อนุศักดิ์ หัสดินทร์, ประสาท สุขุม A.S.C.
- ผู้ลำดับภาพ : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล
- ผู้กำกับศิลป์ : เฉลิม พันธุ์นิล
- บันทึกเสียง : น้อย บุนนาค
- เพลงประกอบ : ม.ล. พวงร้อย อภัยวงศ์
- ดนตรีประกอบ : วงดนตรีบริษัทภาพยนตร์ไทย จำกัด
- อำนวยการสร้าง : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล
- บริษัทผู้สร้าง : บริษัท ภาพยนตร์ไทย จำกัด
- วันที่เข้าฉาย : 11 มกราคม 2482 ฉายที่ศาลาเฉลิมกรุง
- ระบบถ่ายทำ : ภาพยนตร์ขาวดำ เสียงในฟิล์ม 35 มม.
เรื่องย่อ[]
เจ้าคุณอินทรภักดี ก่อตั้งบริษัทหาของเก่า ชื่อ บริษัทเสาะหาทรัพย์ ไม่จำกัด เป็นงานอดิเรกหลังเกษียณราชการ โดยมีลูกจ้างในบริษัทคือ ไพรัช หลานชายของมนูญ และ ยม ยมนั้นไม่ค่อยลงรอยกับไพรัชด้วยว่าหมายปอง วัฒนา ซึ่งชอบพออยู่กับไพรัช จึงหลอกไพรัชไปเล่นไพ่และโกงไพ่ทำให้ไพรัชเป็นหนี้ยม เพราะรู้ดีว่าบริษัทมีกฎห้ามพนักงานเป็นหนี้
แต่ความจริงแล้ว ยมเป็นหนี้ ฮั่วหยง เจ้าของภัตตาคาร ฮั่วหยงเองใช่ว่าจะเป็นคนมีทรัพย์ ตนเองนั้นก็เป็นหนี้ มะริด เจ้าของสวนมะริดรมณีย์ เมียลับของ อาจารย์สุก หมอดู ซึ่งต้องปิดบังความจริงเพื่อให้เป็นที่น่าเคารพนับถือของชาวบ้าน ยมขู่ให้ไพรัชใช้หนี้แทนตน วัฒนาแอบได้ยินจึงเสนอตัวใช้หนี้แทนไพรัชด้วยการเป็นนางบำเรอของสวนมะริดรมณีย์
หลังจากนั้น ไพรัชกับยมได้รับมอบหมายให้ไปแสวงหาของเก่าในป่าทางภาคเหนือ เป็นเวลาเดียวกับที่รัฐบาลออกกฎหมายจับกุมนักต้มตุ๋นซึ่งปลอมตัวเป็นหมอดูอาจารย์สุกจึงหลบหนีไปกบดานในป่าทางภาคเหนือเช่นกัน
ไพรัชออกไปหาของเก่าในป่า เผอิญพบอาจารย์สุกอาจารย์สุกตกใจรีบวิ่งหนีก็บังเอิญไปเตะแผ่นหินเข้า ทั้งสองจึงนำแผ่นหินกลับมายังที่พัก เมื่อได้คุยกับไพรัชและยมอาจารย์สุกจึงได้รู้ว่านโยบายจับกุมหมอดูเป็นเรื่องเท็จ จึงลากลับกรุงเทพฯ ยมออกอุบายให้ไพรัชออกไปเสาะหาของเก่าต่อทั้งๆ ที่ไพรัชป่วยจากพิษไข้ป่า เป็นเหตุให้ไพรัชพลัดตกจากหลังม้าและหายสาบสูญไป ยมหัวไวจึงหนีกลับกรุงเทพฯ แอบอ้างว่าตนเป็นผู้พบแผ่นหินศิลาจารึก มิหนำซ้ำยังใส่ความไพรัชว่าหนีงาน และฉวยโอกาสสู่ขอมยุรี แต่มยุรีรู้ว่ายมเป็นคนชั่วร้าย จึงไม่อยากแต่งงานด้วย
ในวันนั้นเอง ไพรัชเดินทางกลับจากภาคเหนือมาพบมนูญตามที่นัดหมาย และเพิ่งได้รู้ว่า บัดนี้วัฒนาตกเป็นนางบำเรอของยมแล้ว ยมยื่นข้อเสนอว่าจะปล่อยวัฒนาก็ได้แต่ไพรัชต้องยอมรับว่าขัดคำสั่งและหนีงาน และบังคับให้พูดว่าผู้ที่ค้นพบศิลาจารึกคือนายยม ไพรัชจำใจยอมรับข้อเสนอ ครั้นถึงกำหนดวันที่เจ้าคุณนัดยมมาฟังเรื่องที่ขอมยุรีแต่งงานมนูญได้พาตัวอาจารย์สุกมาเป็นพยานว่ายมเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเรื่องทั้งหมด ยมจำนนต่อหลักฐาน มยุรีจึงช่วยจัดการให้ไพรัชและวัฒนาเข้าใจกันได้ในที่สุด
นักแสดง[]
นักแสดง | รับบทเป็น |
---|---|
พระยาบำรุงราชบริภาร | พระยาอินทรภักดี |
ลิขิต สารสนอง | ยม |
ทวี มณีสุนทร (ทวี ณ บางช้าง) | ไพรัช |
สุภาพ สง่าเมือง | วัฒนา |
พนม สุทธาศิริ | มนูญ |
ศิริ กุลศิริ | มยุรี |
อบ บุญติด | เถ้าแก่ฮั่วหยง |
รวมพันธุ์ | อาจารย์สุข |
ป้าสุ่น | มะริด |
เสริม ประสพชัย | ตระหนัก |
ไพฑูรย์ | พวงผกา |
Image Gallery & วีดีโอ[]
เกร็ด[]
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำในระบบฟิล์ม 35 มม.ไวด์สกรีน เทคนิคอคาเดมิค บันทึกเสียงขณะถ่ายทำ บันทึกเสียงโดย น้อย บุนนาค และดนตรีประกอบโดยวงดนตรีบริษัทภาพยนตร์ไทย จำกัด มีเพลงประกอบที่ประพันธ์คำร้องเพลงโดย ม.ล. พวงร้อย อภัยวงศ์ ได้แก่เพลง แรกรัก, สายสิโหมง และ ฮัชชัชชา
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายภาพโดย ประสาท สุขุม A.S.C. ถือว่าเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ร่ำเรียนและฝึกงานถ่ายทำภาพยนตร์ที่ฮอลลีวู้ด และเป็นสมาชิกสมาคมช่างถ่ายภาพยนตร์อเมริกัน (ASC) เพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย
- ในปี พ.ศ. 2534 หอภาพยนตร์ได้ค้นพบฟิล์มสำเนาฉายของภาพยนตร์จากโรงถ่ายไทยฟิล์ม เรื่อง ปิดทองหลังพระ จำนวน 1 ม้วน ความยาวประมาณ 1,000 ฟุต ปะปนอยู่กับเศษฟิล์มอื่น ๆ ในโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง เมื่อตรวจสอบกับเรื่องย่อในสูจิบัตรของภาพยนตร์ พบว่าเป็นม้วนที่อยู่ในช่วงท้ายเรื่อง ประกอบด้วยสามฉาก ฉากแรกถ่ายนอกโรงถ่าย เป็นฉากสวนอาหารมะริดรมณีย์ ปรากฏให้เห็น ยม ผู้ร้ายของเรื่อง บังคับให้ มะริด เจ้าของสวนเรียกนางเอกคือ วัฒนา ซึ่งยมหมายปองอยู่ มาร้องเพลงบำเรอแก่เขา โดยมีวงดนตรีที่มี เอื้อ สุนทรสนาน เป็นนายวงบรรเลงจนจบเพลง ฉากนี้ตัดสลับกับฉากห้องพักนางบำเรอ ที่วัฒนาผู้มาทำงานใช้หนี้แทนชายคนรัก ใช้เป็นที่นั่งรอแขกเรียกอยู่กับเพื่อนนางบำเรอ และฉากสุดท้ายเป็นฉากในบ้าน ซึ่งมะริดกับ เถ้าแก่ฮั่วหยง คู่รักที่เพิ่งแต่งงานกัน ได้พบกับ อาจารย์สุก หมอดูและสามีเก่าของมะริด ที่จู่ ๆ ก็ปรากฏตัวขึ้น ทั้ง ๆ ที่หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าเขาตายแล้ว
- ในบรรดานักแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ มีแค่ อบ บุญติด ผู้รับบท เถ้าแก่ฮั่วหยง ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของแฟนภาพยนตร์ยุคหลัง เพราะมีผลงานยืนนานไปจนถึงยุคภาพยนตร์ 16 มม. ซึ่งเริ่มต้นขึ้นหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2
อนุสรณ์[]
- โครงการของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
- มรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 9 (พ.ศ. 2562)