- ประเภท : Drama / Romance
- ผู้กำกับ : วิจิตร คุณาวุฒิ
- บทประพันธ์ : พนมเทียน (ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ)
- บทภาพยนตร์ : วิจิตร คุณาวุฒิ
- ผู้ถ่ายภาพ :
- อำนวยการสร้าง : สุรัสน์ พุกกะเวส (สุรัฐ พุกกะเวส)
- บริษัทผู้สร้าง : ดาราไทยฟิล์ม
- วันที่เข้าฉาย : 11 เมษายน 2505 ฉายที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์
- ระบบถ่ายทำ : ภาพยนตร์สี 16 มม. ให้เสียงพากย์สด
เรื่องย่อ[]
ชลลดา (เกศริน ปัทมวรรณ) เป็นบุตรสาวของหลวงอัตถกิจวินัยฉัย (สาหัส บุญ-หลง) ผู้พิพากษาศาลจังหวัดชุมพร กับคุณนายผกา (มนัส บุญเกียรติ) หลวงอัตถกิจฯ ส่งชลลดาไปศึกษาในยุโรป โดยอยู่ในความดูแลของกฤษณ์ (ชนะ ศรีอุบล) นักการทูตหนุ่มอนาคตไกล ซึ่งครอบครัวของหลวงอัตถกิจฯ และครอบครัวของกฤษณ์มีความสนิทสนมกัน แต่ชลลดาชอบความสนุกสนานจึงไม่สนใจการเรียน แต่กฤษณ์ซึ่งแอบรักชลลดาอยู่จึงไม่ยอมขัดใจ ประกอบกับกฤษณ์ต้องเดินทางบ่อยทำให้ชลลดาเรียนไม่สำเร็จ หลวงอัตถกิจฯจึงเรียกตัวชลลดากลับประเทศไทย
เมื่อกลับถึงบ้านชลลดาพบว่า เรือประมงของหลวงอัตถกิจรับคนงานใหม่อีกคนหนึ่งชื่อ นายใหม่ (ชนะ ศรีอุบล) ซึ่งนายใหม่เป็นที่รักของทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้องชายของชลลดา แต่ชลลดากลับไม่ชอบหน้านายใหม่ที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับตน แต่นานวันเข้าชลลดากลับพบว่านายใหม่คือลูกผู้ชายที่แท้จริง ที่พร้อมจะช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ส่วนนายใหม่ก็รู้ถึงจิตใจที่ดีงามของชลลดา ขณะที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองแนบแน่นขึ้นเป็นลำดับนั้น นายใหม่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจมาควบคุมตัวส่งเข้ากรุงเทพฯ
หลวงอัตถกิจฯและชลลดาเข้ากรุงเทพฯเพื่อขอประกันตัวนายใหม่ แต่กลับพบว่ากฤษณ์ได้มาประกันตัวนายใหม่แล้ว และบอกให้ทุกคนได้ทราบว่านายใหม่คือ เรือโทตฤณ วิชชุลดา น้องชายต่างมารดาของกฤษณ์ ตฤณเป็นนายทหารเรือหนุ่มที่มีความสามารถมากและได้เข้าทำร่วมทำการปฎิวัติแต่ไม่สำเร็จ จึงต้องหนีไปซ่อนตัวเป็นลูกจ้างเรือประมงที่ชุมพร
รัฐบาลในขณะนั้นยื่นข้อเสนอให้เรือโทตฤณ โดยจะทำการอภัยโทษให้แต่ตฤณจะต้องทำหน้าที่ผู้บังคับการเรือรบไปทำการรบที่ประเทศเกาหลี ตฤณยอมรับข้อเสนอ ก่อนจะเดินทางตฤณลาชลลดาด้วยความอาลัยอาวรณ์ และมอบ “กัลป้งหา” ที่เขาเก็บขึ้นจากท้องทะเลให้กับชลลดาเพื่อเป็นสิ่งแทนความรักของทั้งสอง
ขณะที่ชลลดารอคอยการกลับมาของตฤณด้วยใจที่จดจ่อ กฤษณ์ได้นำผู้ใหญ่เข้ามาสู่ขอชลลดา ถึงแม้ชลลดาจะไม่ได้รักกฤษณ์แต่ก็นึกถึงความดีของกฤษณ์จึงตกลงรับหมั้น
หลังจากหมั้นกันแล้วกฤษณ์ก็เตรียมจัดงานฉลองหมั้นที่บ้านหลวงอัตถกิจฯ ก่อนถึงวันงานหนึ่งวันปรากฏเรือรบมาทอดสมอที่ใกล้ชายหาด และมีเรือเล็กนำนายทหารมาขี้นที่ชายหาดใกล้บ้านหลวงอัตถกิจฯ นายทหารคนนั้นคือเรือโทตฤณ วิชชุลดา ที่กลับมาจากสงครามพร้อมด้วยชัยชนะ แต่เมื่อตฤณทราบข่าวการหมั้นของชลลดากับกฤษณ์ก็รู้สึกเหมือนฟ้าผ่าดวงใจ
ในงานฉลองหมั้นตฤณขอร้องให้ชลลดาแต่งงานกับกฤษณ์เพราะทั้งชลลดาและกฤษณ์คือสองคนที่เขารักมากที่สุด ชลลดารับปากจะแต่งงานกับกฤษณ์เพราะเห็นแก่ความดีของกฤษณ์ และคืนกัลป้งหาให้แก่ตฤณ เหตุการณ์ทั้งหมดอยู่ในสายตาของกฤษณ์
เช้าวันรุ่งขี้นตฤณและชลลดาได้รับจดหมายจากกฤษณ์คนละฉบับ ข้อความในจดหมายของกฤษณ์บอกขอถอนหมั้นชลลดา และฝากให้ตฤณดูแลชลลดาตลอดไป โดยที่กฤษณ์เดินทางไปต่างประเทศในคืนวันฉลองหมั้น และได้นัดหมายให้ตฤณกับชลลดามาพบกันที่ชายหาดที่ทั้งสองเคยพบกันครั้งแรก ทั้งคู่ทำความเข้าใจกันและได้ครองรักกันสืบต่อมา
นักแสดง[]
นักแสดง | รับบทเป็น |
---|---|
ชนะ ศรีอุบล | กฤษณ์ / นายใหม่ |
เกศริน ปัทมวรรณ | ชลลดา |
รุจน์ รณภพ | |
สาหัส บุญ-หลง | หลวงอัตถกิจวินัยฉัย |
มนัส บุญเกียรติ | คุณนายผกา |
รุ้งลาวัณย์ วิบูลย์สันติ | |
อรพรรณ เบญจรงค์ | |
ชูศรี มีสมมนต์ | |
บู๊ วิบูลนันท์ | |
สุคนธ์ คิ้วเหลี่ยม |
Image Gallery & วีดีโอ[]
เกร็ด[]
- ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากบทประพันธ์ของ พนมเทียน (ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ) อยู่ในชุดเดียวกับนวนิยายอีก 4 เรื่องคือ มัสยา, ละอองดาว, แววมยุรา และ สกาวเดือน บทประพันธ์เรื่องนี้ถูกนำมาสร้างทำเป็นภาพยนตร์ 2 ครั้ง และละครโทรทัศน์ 1 ครั้ง
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เดินทางไปถ่ายทำที่ต่างประเทศถึง 4 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส, อิตาลี, อังกฤษ และ อียิปต์
- ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเพลงประกอบในชื่อเดียวกัน เป็นเพลงจังหวะโบเลโร่ ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง ประพันธ์คำร้องโดย สุรัฐ พุกกะเวส และทำนองโดย สง่า อารัมภีร บันทึกแผ่นเสียงเมื่อปี พ.ศ. 2505
- ในปี 2535 มีการนำฟิล์มหนังกลับมาฉายอีกครั้งซึ่งให้เสียงพากย์สดโดย สมพงษ์ วงศ์รักไทย (พากย์เสียงของ ชนะ ศรีอุบล), สีเทา (พากย์เสียง รุจน์-สาหัส บุญหลง), อรัญญา (สุพัตรา เขียวขาว), เด่นนภา จันทร์ยงค์ จากนั้นก็มีการออกจำหน่ายเป็นวีดีโอพร้อมกับภาพยนตร์เรื่อง สาวน้อย (2501)